posttoday

ครม.ไฟเขียว งบ 6 หมื่นล้าน ปลดล็อก เอ็นที เดินหน้าคลื่น 700 MHz

14 มีนาคม 2566

วงเงินตามโครงการรวมค่าคลื่น 61,628 ล้านบาท ระยะเวลา 14 ปี ลุยสานต่อพันธมิตรเอไอเอส หลังโครงการสะดุดรอมาหลายปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการให้ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz กรอบวงเงินตามโครงการทั้งสิ้น 61,628  ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 14 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ภายในปี 66 เป็นต้นไป
 
ตามโครงการนี้  เอ็นที จะนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ได้จากการประมูลมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยี 4G/5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด รองรับผู้ใช้บริการรายเดิมบนคลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่สิทธิการใช้คลื่นของ เอ็นที ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 ส.ค. 68 รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ๆ ตามแผนการตลาด และเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต
 
โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งส่วนของลูกค้ารายย่อย 3.6 ล้านราย เช่นลูกค้าเดิมที่ใช้บริการอยู่ 2 ล้านรายและกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้า 2-4 แสนซิมต่อปี  กลุ่มลูกค้า IoT Connectivity และ New devices ลูกค้าองค์กรภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน จำนวน 9 แสนเลขหมาย

สำหรับกรอบวงเงินดำเนินการ 61,628 ล้านบาท นั้น แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน 30,602 ล้านบาท เช่น ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 20,584 ล้านบาท  ค่าใช้จ่ายในการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร 9,300 ล้าบาท และอุปกรณ์โครงข่าย 718 ล้านบาท  และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 31,026 ล้านบาท เช่น ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร 1,615 ล้านบาท และ ค่าดำเนินการอื่นๆ 175 ล้านบาท
 
โครงการนี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อ เอ็นที ให้สามารถสร้างรายได้และพลิกฟื้นธุรกิจในสถานการณ์ที่การแข่งขันสูงได้แล้ว ยังมีผลบวกต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือ ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุน ของอุตสาหกรรมในภาพรวม เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้รับบริการนอกเหนือจากผู้ให้บริการหลัก 3 ราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า แผนดังกล่าวเอ็นทีจะทำธุรกิจเอง 5 MHz และให้พันธมิตรคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ทำธุรกิจ 5 MHz  ซึ่งตามแผนงานที่เอ็นทีเสนอนั้นระบุว่าจะเริ่มทำตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนมี.ค.นี้

“จากวันที่ประมูลจนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่าโครงการ 5G ของเอ็นทีล่าช้ามาก ยิ่งการอนุมัติล่าช้า ก็ยิ่งส่งผลต่อรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ยิ่งเดินแผนช้า ความคุ้มค่าในการลงทุนก็ยิ่งลดลง ขณะที่เอกชนลงทุนและมีลูกค้า 5G แล้ว ทั้งลูกค้าองค์กรและลูกค้าคอนซูเมอร์”

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า หลังจากประมูลคลื่นได้จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz ที่ประมูลมากว่า 35,000 ล้านบาท มีการจ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้วกว่า 6,600 ล้านบาท