posttoday

ครม.เห็นชอบให้ธปท.ออกกฎกำกับดูแล ธุรกิจ"เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง"

07 มีนาคม 2566

มติครม.เห็นชอบให้ ธปท.กำหนดแนวทางกำกับดูแล ธุรกิจให้เช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลีสซิ่ง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการการเงินที่เป็นธรรม ไม่โดนหลอก หรือเอาเปรียบ พร้อมขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลา 1 ปี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดแนวทางกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และการขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (ระยะเวลา 1 ปี) ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ 
 

1) การให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้าง โดยมียอดธุรกรรมสูงถึงร้อยละ 12.4 ของหนี้ครัวเรือนและมีแนวโน้มการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประมาณ 1 ใน 3 ของยอดธุรกรรมดังกล่าวเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะ ประกอบกับจำนวนเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะส่งเสริมและดูแลให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม ไม่ถูกหลอก ถูกบังคับ ถูกรบกวน หรือถูกเอาเปรียบ และได้รับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพียงพอต่อการตัดสินใจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้วยราคาที่เหมาะสม รวมทั้งยังเป็นการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคก่อหนี้สินจนเกินตัว

 

โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายใต้ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะไม่ทับซ้อนกับการกำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยังคงมีอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภคและกำหนดสัญญามาตรฐานในเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยรัฐบาลจะดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป 

 

2) การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (ระยะเวลา 1 ปี) หรือสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ (พ.ร.ก. ฟื้นฟู) เพื่อรองรับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยภายใต้มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ 

 

ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว สถาบันการเงินสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา อีกทั้งรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจในช่วง  6 เดือนแรกของสัญญาเพื่อลดภาระทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบให้โอนวงเงินคงเหลือของมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ภายหลังสิ้นสุดมาตรการ ณ วันที่ 9 เมษายน 2566 มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้วงเงินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจมีวงเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 61,500 ล้านบาท และจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 9 เมษายน 2567 

 

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ร่างพระราชกฤษฎีกาดัง กล่าวจะช่วยยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น” และ “การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุนและสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและเป็นแหล่งทุนเพื่อการปรับตัวของธุรกิจบางประเภทเพื่อรองรับบริบทเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต”