posttoday

AIS เร่งพัฒนา 5G บริการสุขภาพสร้างความเท่าเทียมเข้าถึงระบบสาธารณสุข

24 กุมภาพันธ์ 2566

ชี้โควิดตัวเร่งคนไทยใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งเทเลเฮลท์ ไอโอที แอปสุขภาพ และเทคโนโลยีเสมือนจริง เผยข้อดี 5G รับส่งข้อมูลรวดเร็ว ตอบโจทย์บริการเฮลท์แคร์

นายวิสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวในงาน THAN Forum 2023 : Health & Wellness Sustainability” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อเสวนา : “Digital Health Tech ระบบนิเวศใหม่การแพทย์ไทย”ว่าหลังการแพร่โควิด คนไทยเริ่มรับรู้ และใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น 

 

“ที่ผ่านมาเทคโนโลยีต่างๆ มีอยู่แล้ว  และมีการผลักดันให้ใช้งาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  อย่างไรก็ตามหลังจากการแพร่ระบาด  ทำให้คนไทยมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น”

 

ทั้งนี้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์  ที่มีการใช้งานหลังการแพร่ระบาด ประกอบด้วย   บริการการแพทย์ทางไกล (Telehealth) , ไอโอที และยารักษาโรค (IoT&Medicines) ,  แอปพลิเคชันสุขภาพ (Wellness in the Application)  และ เทคโนโลยีเสมือนจริง  (Virtual and Augmented Reality) ทั้งนี้แมคเคนซี่ ระบุว่า 60% ผู้บริโภค ยอมรับว่า เวอร์ชวลแคร์ ช่วยอำนวยความสะดวกมากกว่ามาโรงพยาบาล  แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มยอมรับเวอร์ชวลแคร์มากขึ้น
 

 

ดังนั้น หลังการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ระบบนิเวศ  หรือ  อีโคซิสเต็ม ของระบบสาธารณสุขกำลังเปลี่ยนไป ทั้งระบบปฐมภูมิ  และทุติยภูมิ   โดยเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการทำงานปฐมภูมิ  เพราะแพทย์ไม่เพียงพอ   จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เก็บข้อมูล การป้องกัน   การวินิจฉัย  การรักษา และการฟื้นฟู  ซึ่งหน้าตาอีโคซิสเต็มการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป  โดยมีคลินิกเล็ก  วิ่งไปดูแลผู้ป่วยต้องการรักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

 

นายวิสิษฐ์  กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของ 5G  คือ ความเร็ว การรับส่งข้อมูล  และความหน่วงต่ำ   ซึ่งตอบโจทย์เฮลท์แคร์  ทั้งอุปกรณ์  IoT  ใช้การเก็บข้อมูล หรือการใช้ในโรงพยาบาล

 

5G  นำไปสู่อีโคซิสเต็มใหม่ของเฮลท์แคร์  ภายใต้ 4P    ประกอบด้วย Predictive  โดยการที่มีข้อมูลมากพอ สามารถคาดการณ์  , Preventative  การป้องกัน ,  Personalized  ติดตามสุขภาพส่วนบุคคล และ Participatory การมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้งานวิจัยอาร์เธอร์ ลิตเทิล  5G  มีบทบาทสำคัญ ในธุรกิจเฮลท์แคร์มากสุด  คือ ประมาณ 21%  สูงกว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 19%

 

อย่างไรก็ตาม AIS พยายามพัฒนา 5G  กับบริการสุขภาพ  ทั้ง แอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม ไอโอที   พยายามสร้างความเท่าเทียมเข้าถึงระบบสาธารณสุขคนไทยทุกคนได้รับการเข้าถึง  เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนให้คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพ