posttoday

กรมแพทย์แผนไทยฯ ชู 'ขมิ้นชัน' สมุนไพรหมื่นล้าน รักษาโรคกระเพาะอาหาร

07 กุมภาพันธ์ 2566

กรมแพทย์แผนไทยฯ ชู “ขมิ้นชัน” สมุนไพรหมื่นล้าน ทางออกรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร ตามภูมิปัญญาไทย ใช้รักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ชูสมุนไพรขมิ้นชัน (Turmeric) เป็นสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal champions) แถวหน้า ขนาดตลาดระดับโลกกว่าหมื่นล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชันลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.8 ของตลาดส่งออกทั้งหมด โดยขมิ้นชันส่งออกของไทยยังมีราคาเฉลี่ยต่อตันสูงกว่าราคาตลาดโลก นอกจากขมิ้นชันจะเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมทั่วโลกแล้ว ยังเป็นสมุนไพรท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการยอมรับและใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านอีกด้วย

สำหรับ สรรพคุณขมิ้นชัน ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ บรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อซึ่ง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของขมิ้นชันที่มากกว่าการบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาโรคกระเพาะแปรปรวน (Functional Dyspepsia) เป็นการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคกระเพาะแปรปรวนจำนวนกว่า 200 คน และเป็นการศึกษาแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุมละปกปิดสองทาง เปรียบเทียบกันสามกลุ่มคือ กลุ่มที่หนึ่งรับประทานขมิ้นชันเพียงอย่างเดียว กลุ่มที่สองรับประทานยารักษาโรคกระเพาะแปรปรวนแบบ proton pump inhibitor ซึ่งในการศึกษานี้เลือกใช้ ยา omeprazole และกลุ่มที่สามคือ รับประทานทั้งขมิ้นชันและยา omeprazole ผลพบว่า ให้ผลการรักษา   ที่ไม่แตกต่างกันทั้งสามกลุ่ม หรือสรุปให้ง่ายคือ การใช้ขมิ้นชันในขนาด 2000 มก ต่อวัน ให้ผลในการรักษาโรคกระเพาะแปรปรวนได้ไม่ต่างจากการใช้ยา omeprazole ในขนาดมาตรฐาน และการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน ก็ไม่ได้ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

ด้าน รองศาสตรจารย์.ดร.นายแพทย์กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การวิจัยทางคลินิกในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเดิมชัย คงคำ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้าคณะวิจัย ฯ ได้ดำเนินการศึกษาระหว่าง  เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ถึง เดือน เมษายน พ.ศ. 2563 โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งสิ้น 206 รายและอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยครบกระบวนการทั้งสิ้น 151 ราย การศึกษา ครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง ให้รับประทานยาที่กำหนดเป็นเวลา 28 วันต่อเนื่อง

โดยแบ่งอาสาสมัครเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มที่รับประทานขมิ้นชัน 2,000 มก ต่อวัน (แบ่งทาน 4 เวลา) เพียงอย่างเดียว กลุ่มที่สองรับประทานยา omeprazole ขนาด 20 มก ต่อวัน และกลุ่มที่สามคือ รับประทาน ทั้งขมิ้นชันขนาด 2,000 มก ต่อวัน และยา omeprazole 20 มก. ต่อวัน โดยวัดผลการรักษาด้วย Severity of dyspepsia assessment (SODA) ที่ 28 วัน และ 56 วัน ผลพบว่า อาสาสมัครทั้งสามกลุ่มมีอาการต่างๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งวันที่ 28 และวันที่ 56 ทั้งนี้ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม โดยสรุปกล่าวคือ ยาสมุนไพรขมิ้นชัน และ ยา omeprazole มีผลในการรักษาโรคกระเพาะแปรปรวนได้เท่าเทียมกัน และการนำยาทั้งสองอย่างมาใช้ร่วมกันไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อนึ่งไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการรับประทานขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ สมุนไพรขมิ้นชันมีข้อควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขมิ้นชันสามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำดีได้และหากผู้ทานมีนิ่วในถุงน้ำดีอยู่ นิ่วอาจจะไปอุดทางออกของน้ำดี ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบได้ ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า สามารถใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่นั้น สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด อาจจะเสริมฤทธิ์กัน รวมทั้งควรระวังการใช้ยาร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิดด้วย เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin สำหรับขนาดที่เหมาะสมในการรับประทานตามคำแนะนำในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือทานครั้งละ 2 – 4 แคปซูล (มีผงขมิ้นชัน 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

“ขมิ้นชันจัดเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาโดดเด่นด้านระบบทางเดินอาหาร และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในหมวดบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร มาเป็นระยะเวลายาวนาน อีกทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร  ของชาวเอเชียมาหลาย   พันปี ขมิ้นชันจึงจัดเป็นสมุนไพรที่โดดเด่น มีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย และประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาสมุนไพรชนิดนี้" นายแพทย์ธงชัยกล่าว