posttoday

“ณัฐพงศ์”แนะ 3 ข้อลดเหลื่อมล้ำ พรรคไหนทำได้คะแนนการเมือง

06 กุมภาพันธ์ 2566

ที่ปรึกษาศูนย์พอเพียงฯ นิด้า ระบุประเทศไทยติดกับดักความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทุกมิติ เสนอ 3 แนวทาง “ภาคนโยบาย- การเงิน-อุตสาหกรรมการเกษตร” ชี้พรรคการเมืองไหนให้ความสำคัญเรื่องนี้ประชาชนจะเลือก

     นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า แม้ว่าจะสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วงวิกฤติโควิด -19 แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญคือปัญหาดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น เงินเฟ้อสูง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือราคาสินค้าแพง โดยส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของสินค้าทุกประเภท 

     ขณะที่แนวโน้มการขึ้นค่าจ้างยากขึ้น เพราะช่วงโควิด บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเพื่อนำมาทำงานแทนคน ทำให้องค์กรใหญ่อาจจะลดการจ้างงาน ส่วนนักธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยเมื่อประสบปัญหานโยบายดอกเบี้ยแพง ความสามารถในการแข่งขันก็ย่อมลำบากขึ้น โครงสร้างบางอย่างในประเทศไทยไม่สมดุล ธุรกิจรายย่อยซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ 60-70% ลำบากมากขึ้น 

     ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การลดความเหลื่อมล้ำ จากงานวิจัยของหลายประเทศทั่วโลกระบุชัดเจนว่า หากความเหลื่อมล้ำมีช่องว่างที่ห่างกันมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในประเทศ ยกตัวอย่าง ประเทศไทย ก็อาจจะเกิดการขัดแย้งเรื่องการเมือง เมื่อมีการขัดแย้งรัฐบาลก็ต้องเสียเวลาอยู่กับการแก้ปัญหาจนไม่มีเวลาพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยวนอยู่กับเรื่องนี้มามากกว่า 10 ปี แล้ว 

     “ทุกประเทศล้วนมีความเหลื่อมล้ำ และมีมานานแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเห็นชัดเมื่อ 8-10 ปี ที่แล้ว ทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ให้คววามสนใจเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจภายในต่ำมาก เน้นแต่การขยายตัวของรายได้ประชาชาติ และตลาดทุน โดยลืมมองไปว่าจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้น้อยมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ตอบโจทย์มาอย่างยาวนาน”

     ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องแก้ทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคนโยบาย ภาคการเงิน และภาคอุตสาหกรรมการเกษตร

     ส่วนแรก ในภาคนโยบายนั้น ต้องมีการเก็บภาษีที่เป็นธรรม คนรวยต้องเสียภาษีมากกว่าคนจน และรัฐต้องกระจายความมั่งคั่งมาสู่คนในระดับต่างๆ เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งทำได้ทั้งในแง่การใช้กฎหมายและไม่ใช้กฎหมาย  เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ปัจจุบันในเวทีโลกไม่มีประเทศไหนที่อวดความรุ่งเรืองด้วยการวัดค่าจีพีดี แต่เขาสนใจเรื่องแนวคิดความยั่งยืน ทุกคนต้องเติบโตไปด้วยกัน ต้องมีการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นให้เขาสามารถพัฒนาท้องถิ่นตัวเองได้ โตไปด้วยกัน แบ่งกันโต ไม่ใช่กินรวบ หรือกระจุกอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

***ตลาดเงินตลาดทุนเส้นเลือดใหญ่ต้องเป็นธรรมขึ้น

     ส่วนที่สอง ภาคการเงิน นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า แม้ภาคการเงินและตลาดทุนจะมีกฎหมายกำหนดในตนเองมีความเป็นอิสระ รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้ว รัฐบาลสามารถพูดคุยและทำความเข้าใจร่วมกันได้ ว่าต่อจากนี้ไป ปัญหาใหญ่คือการลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ภาคการเงินและตลาดทุนคือเส้นเลือดสำคัญในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้ถ้วนถึง  “นายกรัฐมนตรี หรือใครก็ตาม จำเป็นต้องเรียกทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน ปรับทิศทาง เพราะมีหลายเรื่อง ที่ตลาดเงินตลาดทุน ยังสามารถสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอย่างเป็นธรรมขึ้นได้ ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ ทุกอย่างก็วนในอ่าง แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ แม้เศรษฐกิจจะโตแค่ไหนก็ตาม คนส่วนใหญ่ยิ่งต่อต้าน จะเป็นระเบิดเวลาสะสมในสังคม”

     นโยบายการปรับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก และ ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธุรกิจรายใหญ่และรายเล็กยังห่างกันเกินไป รวมถึงเมื่อเงินฝากดอกเบี้ยน้อย การสะสมความมั่งคั่งน้อยลง ประชาชนจะจนเร็ว เมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยของรายเล็กสูงกว่ารายใหญ่ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดเดียวกันได้ภายใต้ต้นทุนที่ต่างกัน การปล่อยเงินกู้ที่ยึดติดกับการพิจารณาเครดิตบูโรโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิตินัก จะทำให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนยาก  หากประเทศไทยปล่อยโครงสร้างให้เป็นแบบนี้ต่อไป เอสเอ็มอีจะทยอยล้มหาย ประชาชนจะกลับเข้าสู่สังคมลูกจ้าง ซึ่งรัฐต้องมีความพร้อมเรื่องรัฐสวัสดิการมากๆ ที่ตอนนี้ประเทศยังไม่พร้อม

     “รัฐบาลใหม่ ควรมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหรือรัฐมนตรีคลังที่ไม่ได้มาจากภาคการเงิน หรือบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ใช่คนเหล่านี้ไม่มีความสามารถ แต่เพราะคนเหล่านี้มีมุมมองแบบธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก และมองความเสี่ยงของรายย่อยเป็นพื้นฐานมายาวนาน เราควรมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่คิดนอกกรอบ มาจากกลุ่มนักธุรกิจขนาดกลางๆ เห็นทั้งความคิดข้างบน และปัญหาข้างล่าง ผมจะแปลกใจทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง คนจะเชียร์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่มาจากธนาคารขนาดใหญ่ ภาคธุรกิจ เพราะภาพลักษณ์มืออาชีพ แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มันพิสูจน์ชัดเจน โครงสร้างตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย คนเขียร์ก็ทุกข์อยู่กันเรื่องเดิมๆ บ่นเรื่องเดิมๆ ถ้าเลือกได้ อยากเลือกคนที่มาจากกลุ่มกลางๆ ธุรกิจขนาดกลางๆ ให้เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน การคลังของประเทศ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป”  

     ส่วนที่สาม หรือส่วนสุดท้ายคือภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ต้องมีการสนับสนุนเกษตรแปรรูป เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเบา แต่ต้องใส่นวัตกรรมให้มีความแตกต่าง รัฐบาลต้องสนับสนุนบีโอไอ สนับสนุนให้มีเครื่องจักรราคาถูก เพื่อให้ธุรกิจรายเล็กสามารถเติบโตได้ เพราะประเทศไทยยังมีประชาชนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับภาคภาคการเกษตรถึง 60-70% ของจำนวนประชากร

     “หากไม่ปรับปรุงเรื่องการเกษตร จากปลูกเพื่อจำหน่าย ให้เป็นปลูกแล้วมีอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อจำหน่าย สุดท้ายจะไม่มีการสืบทอดในรุ่นต่อไป ซึ่งน่าเสียดายเพราะภาคเกษตรคือภาคที่ยังมีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากในตลาดโลก” ที่ปรึกษาฯ ศูนย์พอเพียง นิด้ากล่าว

     สุดท้ายเมื่อถามถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ณัฐพงศ์ตอบว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โลกจะพูดถึง SDG หรือ BCG ฟังดูแล้วดูเป็นวิชาการ และอาจจะดูทันสมัย เพราะคนไทยนิยมฝรั่ง แต่เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครอบคลุมทุกมิติของ 2 เรื่องนี้ไว้หมดแล้วในภาคเศรษฐกิจ ต้องกลับมาทบทวนว่า เรานำพระราชดำริเหล่านี้มาตีความ และสร้างเป็นนโยบายได้จริงจังแค่ไหน หากทำได้ นั่นคือการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าหมายที่สุด พออยู่ พอกิน พอเพียง และเติบโตร่วมกัน แข่งขันไปด้วยกัน สังคมก็จะสงบสุขเอง ความเหลื่อมล้ำก็ค่อยๆ ลดลงเอง ประชาชนจะมีความสุขกว่าประเทศที่เน้นแต่การเติบโต และจะมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนอยู่ได้

     “เมื่อมองย้อนหลังไปหลายสิบปี ความขัดแย้งทั้งหมดมันอยู่ที่เรื่องเดียว คือ ความเหลื่อมล้ำนี่ละ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการเลือกตั้ง สังคมทุกระดับต้องให้ภาคการเมืองตอบโจทย์เหล่านี้เป็นนโยบายให้ได้ และติดตามดู ใครทำได้จริง ใครทำไม่ได้ เพราะทุกพรรคตอนนี้พูดถึงความเหลื่อมล้ำทั้งหมด ก็ต้องรอดู” ที่ปรึกษาศูนย์พอเพียง สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวปิดท้าย.