posttoday

"อาคม" ย้ำไม่เลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น เดินหน้าเก็บในอัตรา 0.11%

03 กุมภาพันธ์ 2566

รมว.คลัง เผยรัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้น ที่จะจัดเก็บในอัตรา 0.11% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย เผยกฎหมายอยู่ระหว่างการรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ กรณีที่มีกระแสข่าวในตลาดหลักทรัพย์ว่าจะมีการเลื่อนหรือยกเลิกการเก็บภาษีขายหุ้น ทำให้หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ปรับสูงขึ้นนั้น ยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนอย่างแน่นอน โดยยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อไหร่

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างกฎหมายภาษีขายหุ้น เสร็จแล้วรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้

 

ทั้งนี้ ตามแผนเดินของกระทรวงการคลัง ต้องการให้ภาษีขายหุ้น ที่จะจัดเก็บในอัตรา 0.11% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย (รวมภาษีท้องถิ่น) สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ เมื่อมีการจัดภาษีตัวนี้ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ต่อปี 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท
 

 

โดย ในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายภาษีฉบับนี้ จะจัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่งของที่กฎหมายกำหนดคือ จะจัดเก็บในอัตรา 0.055 % (รวมภาษีท้องถิ่น) เพื่อให้เวลาปรับตัวสำหรับนักลงทุน และเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัว เมื่อกฎหมายลงราชกิจจานุเบกษาแล้วจะให้เวลาปรับตัว 3 เดือน โดยให้มีผลในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 

 

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งความจริงภาษีขายหุ้น มีกำหนดอยู่ในประมวลรัษฎากร ของกรมสรรพากรอยู่แล้วแต่มีการยกเว้นไม่ได้นำมาใช้ เป็นเวลานานถึง 40 ปี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

เมื่อปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์เติบโตแข็งแรงขึ้น จำเป็นต้องยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ระหว่างคนที่มีรายได้จากการทำงานตามปกติ ที่มีภาระต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับคนที่มีรายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับการยกเว้นเงินได้มาอย่างยาวนาน 

 

ทั้งนี้ กฎหมายภาษีฉบับนี้ มีข้อยกเว้นไม่จัดเก็บภาษีสำหรับกรณีการซื้อขายหุ้นผ่าน Market Maker ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือประกันสังคม จะได้รับการยกเว้นภาษีตัวนี้  เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์

 

สำหรับการวิธีการจัดเก็บภาษีตัวนี้ กรมสรรพากร จะมอบให้ Broker เป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร เนื่องจาก Broker มีภาระหน้าที่ต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ในส่วนของนักลงทุนที่ถูกหักภาษีตัวนี้ ไม่ต้องนำรายได้จากการขายหุ้นไปรวมคำนวณกับรายได้ของปีนี้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะถือเป็น Final Tax