posttoday

เอ็นที กางโรดแมป 5G คลื่น 26 GHz วงเงิน 6,705.6 ล้านบาท

03 กุมภาพันธ์ 2566

คาด 13 ปี ปั้นรายได้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท มั่นใจลูกค้ารัฐ โรงพยาบาล ภาคการศึกษา อุตสาหกรรม อีอีซี ใช้บริการเกือบ 500 รายในปีที่ 6 ส่งผลให้คืนทุนได้ในที่สุด

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ได้รับใบอนุญาตคลื่น 26GHz จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่ปี 2563ระยะเวลา 15 ปี โดยใบอนุญาตจะสิ้นสุด ณ วันที่ 22 พ.ย. 2578 

 

จนถึงขณะนี้อายุใบอนุญาตเหลือเพียง 13 ปี (2566-2578) คณะรัฐมนตรี (ครม.)เพิ่งมีมติอนุมัติกรอบงบประมาณแผนธุรกิจการลงทุน โครงการ 5G บนคลื่น 26GHz ของเอ็นที จำนวน 6,705.6 ล้านบาท  ไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

 

สำหรับเอกสารแผนการดำเนินธุรกิจ ที่เอ็นทีเสนอ ครม. ระบุว่าวงเงินดังกล่าว เอ็นทีจะวงเงิน 6,705.6 ล้านบาท ในระยะเวลา 13 ปี ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ แบ่งเป็น 

 

1.ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระบบโครงข่ายหลัก (Core Network) สถานีฐานเทคโนโลยี 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4,364.3 ล้านบาท

 

2.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษา และซ่อมบำรุง โครงข่าย จำนวน 1,741.3 ล้านบาท

 

 

โดยเอ็นทีคาดว่าจะมีรายได้รวมเมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตหรือในปี 2578 อยู่ที่   12,438.1 ล้านบาท  สามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 6 เดือน คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.4 ล้านบาท ในปีแรกและเพิ่มเป็น 1,030.3 ล้านบาท ในปีสุดท้าย โดยมีราคาในการให้บริการในปีที่ 1 เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (เล็ก)        120,000 บาท/แห่ง/เดือน สถานศึกษาขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ 120,000 144,000 180,000 บาท/แห่ง/เดือน ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามราคาตลาดและราคาในปีต่อ ๆ ไป และจะลดลงเรื่อย ๆ 

 

อย่างไรก็ตาม เอ็นทีคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่จำนวนลูกค้าคงที่ประมาณ 438 ราย ภายในปีที่ 6 สอดคล้องกับการลงทุนจำนวนสถานีฐานที่จะเพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่จำนวนสถานีฐานคงที่ในปีที่ 4 และในปีที่ 6 จะมีการ Upgrade Core Network เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้โครงข่าย 5G สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนั้นทุกปีจะมีงบประมาณที่ต้องใช้ในการบำรุงรักษาเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพ

 

ลูกค้าจำนวน 438 รายนั้น ประกอบด้วย 
1.กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 11 ราย
2.กลุ่มโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย
3.กลุ่มสถาบันการศึกษา จำนวน 30 ราย
4. กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี จำนวน 350 ราย

 

สำหรับคลื่น 26GHz เป็นคลื่นที่เหมาะกับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access: FWA) สำหรับลูกค้าภาคครัวเรือนและภาครัฐในพื้นที่เมือง พื้นที่นอกเมือง    และพื้นที่ห่างไกล ในระดับราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงการใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

 

นอกจากนี้ยังสามารถให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) อาทิ ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง และท่าอากาศยาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ขณะเดียวกันยังสามารถให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ             เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์ ได้อีกด้วย

 

เอ็นที กางโรดแมป 5G คลื่น 26 GHz วงเงิน 6,705.6 ล้านบาท

 

ดังนั้นรูปแบบของธุรกิจจึงเน้นการให้บริการ 5G ในลักษณะโครงข่ายเฉพาะองค์กร (Private 5G Network) ซึ่งในการออกแบบโครงข่ายโทรคมนาคมเทคโนโลยี 5G จำเป็นต้องระบุความต้องการใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ครอบคลุมปริมาณความต้องการใช้งาน เพื่อที่สามารถให้บริการเชื่อมต่อตามความต้องการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น เอ็นทีจะลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นราย ๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและมีลูกค้าเป็นที่แน่นอนและมีแนวทางการดำเนินการงาน ดังนี้

 

1.ลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลัก (Core Network) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายสัญญาณให้เป็นวงกว้างและมีเสถียรภาพ โดยมีจำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ชุมสายพระโขนงและชุมสายกรุงเกษม

 

2. ลงทุนพัฒนาสถานีฐานเทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายสัญญาให้เป็นวงกว้างและสนับสนุนการเข้าถึงของกลุ่มลูกค้า โดยจะพิจารณากำหนดพื้นที่ก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมจากความเหมาะสมเชิงกายภาพและจำนวนผู้ใช้งาน โดยเอ็นทีเป็นผู้ดำเนินการเอง

 

3. ให้บริการ Business solution เช่น Application สำหรับ Smart Government และ Smart Healthcare ซึ่งเอ็นทีอาจเป็นผู้ดำเนินการเองหรือร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินการ

 

จากการประมาณการฐานะทางการเงินของ เอ็นที ระหว่างปี 2566 – 2572 ภายใต้สมมติฐานการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงโครงการฯ พบว่า เอ็นที จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนระหว่างปี 2566 – 2570 โดยรายได้จะลดลงตั้งแต่ปี 2569 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz จะหมดอายุลง 

 

เอ็นที กางโรดแมป 5G คลื่น 26 GHz วงเงิน 6,705.6 ล้านบาท

 

ดังนั้นการดำเนินโครงการฯ จะช่วยเพิ่มรายได้ของเอ็นที และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) ของเอ็นที มีแนวโน้มดีขึ้น จากติดลบ 1.2% ในปี 2566 เป็น 2.4% ในปี 2572

 

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ปี 2568 จะเป็นปีสุดท้ายที่เอ็นทีมีรายได้หลักจากคลื่นที่ทำพันธมิตรร่วมกับเอกชนปีละกว่าหมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อทำให้เอ็นทีมีรายได้ต่อไปที่ยั่งยืนและไม่ขาดทุน คลื่น 26GHz จะส่งผลให้บริษัทกลับมามีกำไรได้