posttoday

สศค. ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 อยู่ใน "ทิศทางขาขึ้น" คาดจีดีพีขยายตัว 3.8%

27 มกราคม 2566

สศค.ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 อยู่ในทิศทางขาขึ้น คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.8% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.8%ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 3.3-4.3%) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี  2565 ขยายตัวอยู่ที่ 3% (ช่วงคาดการณ์ 2.8-3.3%) โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากที่สำคัญ จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 21.5 ล้านคน ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอยู่ที่ 147%ต่อปี ส่งผลให้รายได้การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้า ในปี 2566 ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวละลง โดยจะขยายตัว 0.4%(ช่วงคาดการณ์ -0.1-0.9%) การปริโภคภาคเอกชน ขยายตัวอยู่ที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ 3-4%) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.6% (ช่วงคาดการณ์ 3.1-4.1%) เป็นผลจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ 2.-3.3%) และจะเป็นการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 1-3% สาเหตุสำคัญมาจากราคาพลังโลกที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5%ของจีดีพี 

 

ส่วนปี 2565 พบว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 (ช่วงคาดการณ์8-8.5%) ประมาณการนำเข้าและบริการ ขยายตัว 7.1 (ช่วงคาดการณ์ 6.9-7.4%) เนื่องจากได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศปรับตัวขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยว และสถานการณ์ในประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 6.9 (ช่วคาดการณที่ 6.7-7.2%) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.2% (ช่วงคาดการณ์ 4-4.5%)

 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในปี 2566 ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ได้หรือไม่ ประกอบด้วย 2 ส่วน

 

1.    ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนโยบายการเปิดประเทศของจีน

 

2.   ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจน การผันผันของตลาดการเงินโลก จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ความเสี่ยงทางความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์โลก ที่มีความยืดเยื้อที่กินเวลาเกือบ 1 ปี และความเสี่ยงจากการฟื้นของประเทศจีน แม้ฟื้นตัวเร็วแต่จะมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด