posttoday

ก.คลังเตรียมทำ “Sandbox” เก็บข้อมูลลูกหนี้ พร้อมนำข้อมูลใช้ไฟช่วยปล่อยกู้

23 มกราคม 2566

คลัง เตรียมทำระบบ “Sandbox” บนแอปเป๋าตัง เพื่อรวมแหล่งข้อมูลลูกหนี้ พร้อมให้นำข้อมูลการใช้ค่าไฟฟ้ามาพิจารณาปล่อยสินเชื่อ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คาดเริ่มโครงการได้ภายในเดือนเม.ย.นี้

นายชื่นชอบ คงอุดม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายว่า สืบเนื่องจากการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ของกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ภาครัฐมองเห็นถึงสภาพปัญหาหนี้ของประชาชน รวมถึง ผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบัน โดยหัวใจสำคัญของการแก้ไขหนี้จะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การแก้ไขหนี้สินเดิม การเติมทุน และการสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในการดูแลปัญหาเรื่องหนี้

 

โดยเฉพาะในส่วน การเติมทุน พบว่า มีปัญหาค่อนข้างมาก คือ ทางสถาบันการเงินจะติดปัญหาการดูข้อมูลเครดิตบูโรคต่างๆ ทำให้การปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนทำได้ยาก และจากการให้ข้อมูลในช่วงโควิดที่ผ่านมา  พบว่า ประชาชนติดเครดิตบูโรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ทำให้วันนี้ ทาง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(NCB) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารกรุงไทย ในฐานะตัวแทนธนาคารเฉพาะกิจ ได้หารือร่วมกันเพื่อหาทางออกให้ประชาชนแบบรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการแก้ไขกม.ที่ต้องใช้เวลา 

ล่าสุด กระทรวงการคลังเตรียมจัดทำระบบ Sandbox เพื่อเป็นแหล่งในการจัดเก็บข้อมูลของลูกหนี้ในระบบสถาบันการเงิน พร้อมจะนำข้อมูลการชำระค่าใช้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ ให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มาร่วมพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ หรือ Credit Score โดยจะนำร่องจาก ข้อมูลจากการชำระค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อน  โดยธนาคารฯจะดึงข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ Sandbox ที่กระทรวงการคลังกำลังจะสร้างขึ้นมา ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลจากทั้ง NCB การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเป๋าตังเข้าด้วยกัน โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการให้นำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าไปพิจารณาสินเชื่อได้ จะต้องเข้าไปยืนยันตัวในแอปเป๋าตังก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงินได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการภายในเดือนเมษายน ปี 2566 

 

โดย ธนาคารกรุงไทยจะทำท่อกลาง ที่จะเชื่อมต่อข้อมูลกับธนาคารของรัฐทั้งหมด เพราะฉะนั้น สถาบันการเงินจะมีข้อมูลการชำระเงินของลูกหนี้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างโอกาสในการปล่อยกู้ เป็นเงินทุนให้กับประชาชน โดยไม่ต้องไปหาทางออกโดยการไปกู้บริษัทเงินกู้เอกชน ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง

 

นาย สุรพล โอภาสเสถียรผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า เบื้องต้นจะพิจารณาใน 2 ข้อมูล คือ1. การหน่วยไฟฟ้า และข้อมูลการชำระเงิน โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะบ่งบอกว่าบุคคลนั้น ทำธุรกิจหรือไม่ เพราะบ้านคนใช้ไฟปกติ กับคนทำธุรกิจปริมาณการใช้แตกต่างกัน และ2. ยอดหนี้ที่ต้องชำระเงิน จะบอกได้ว่า บุคคลนั้นมีระดับรายได้เท่าไร เป็นตัวแทนของข้อมูลรายได้ได้  
อย่างไรก็ตาม ไทยถือว่ามีความพร้อมด้านดาต้า เพราะปัจจุบัน เรามีแพลตฟอร์มใหญ่ด้านข้อมูลรองรับอยู่แล้ว นั้นคือ แอปพลิเคชั่น เป๋าตัง ที่มีข้อมูลประชากรอยู่ถึง 40 ล้านคน มีข้อมูลคนเป็นหนี้ NPL อยู่ในเครดิตบูโรราว 5.5 ล้านคน และยังมีผู้ใช้รายย่อยไฟฟ้าการไฟฟ้าภูมิภาค 19 ล้านคน  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้้นจากโครงการนี้

 

ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ค่าน้ำ หรือ ค่าโทรศัพท์ ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลทางเลือกที่ธนาคารโลกแนะนำ 100 กว่าประเทศทั่วโลก โดยระบุว่า หากจะช่วย SMEs ให้อยู่รอดในช่วงเกิดโควิด ที่มีแผลเป็นจากการค้างชำระหนี้ การใช้ข้อมูลสาธารณูปโภค จะทำให้เห็นว่า เขายังมีกิจกรรม หรือการประกอบอาชีพอยู่ แม้อดีตเขาจะติดแบล็กลิตส์ แต่ปัจจุบันสามารถชำระหนี้ได้แล้ว จากการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยย้ำว่า ไม่มี ประเทศไหนที่ลบรอยแผลเป็น หรือการลบข้อมูลการผิดชำระหนี้ในเครดิตบูโร (ปัจจุบันไทยจะต้องติดแบล็คลิสต์อยู่ 3 ปี) แต่จะใช้วิธีการเพิ่มเติมข้อมูลเครดิตใหม่ๆเข้าไป เพื่อให้สถาบันการเงินได้พิจารณา ซึ่งการเพิ่มข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็น มติครม.ที่มีการรองรับในปี 2557

 

อย่างไรก็ตามหาก ระบบนี้ประสบความสำเร็จเชื่อว่า หน่วยงานอื่นๆ เช่นการไฟฟ้านครหลาง หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้น