posttoday

ก.ล.ต. ติดอาวุธเสริมความรู้สินทรัพย์ดิจิทัลให้รู้เท่าทันกลโกง

15 มกราคม 2566

ก.ล.ต. ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยหวังติดอาวุธแก่ผู้ซื้อขายและผู้ลงทุน ที่ไม่เพียงลดความเสี่ยงซื้อขาย Digital Asset แต่ต้องรู้เท่าทันภัยกลโกงที่โจรงัดมาแอบอ้างด้วย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีราคาซื้อขายปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ราคาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ Cryptocurrency เช่น บิตคอยน์ ราคาขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ประมาณ 2.1 ล้านบาท

 

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน สนใจเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรใน Cryptocurrency โดยเห็นได้จากจำนวนบัญชีซื้อขาย Digital Asset ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 2 แสนบัญชี ณ สิ้นปี 2563 สู่ 2.3 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งในช่วงนั้นหลายคนอาจยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีไม่มากนัก 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2565 สถานการณ์ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี มีความผันผวนสูงมากและปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2565 ลดลงไปอยู่บริเวณ 5.7 – 5.8 แสนบาท หรือลดลงประมาณ 64% จากช่วงต้นปี 2565 ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาและพอร์ตของผู้ซื้อขายที่ติดลบตามไปด้วย 

 

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะที่ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง และปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภท จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ซื้อขายต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจซื้อขาย

 

การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจซื้อขาย ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการดูแลคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี (financial well-being)

 

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีภารกิจสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ผู้ลงทุน และผู้สนใจจะซื้อขาย มุ่งเน้นให้ก่อนจะซื้อขายต้องมีความรู้ความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของสินทรัพย์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงก่อนซื้อขาย ภายใต้หลักคิด ลงทุนได้ ลงทุนเป็น ไม่ถูกหลอก  

 

ด้วยพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลที่รวดเร็วและกระแสความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ทำให้ ก.ล.ต. ต้องเร่งให้ความรู้สินทรัพย์ดิจิทัลในเชิงรุกและรวดเร็ว ซึ่งโครงการที่สำคัญของการให้ความรู้ คือ รายการ “คริปโท 101” ที่มีความร่วมมือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ influencer ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

 

โดยมุ่งให้ความรู้ Digital Asset อย่างรอบด้านตั้งแต่พื้นฐานจนถึงเชิงลึก ซึ่งเริ่มตอนแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 และได้เผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่องมา 3 ซีซั่น รวม 46 ตอน และได้จัดทำศูนย์รวมความรู้สินทรัพย์ดิจิทัล “คริปโทศาสตร์ รู้ได้ในคลิกเดียว”*  ที่เป็นแหล่งความรู้สินทรัพย์ดิจิทัลด้วยสื่อที่หลากหลายจัดทำโดย ก.ล.ต. ซึ่งคริปโท 101 ทุกซีซั่นก็รวบรวมไว้ให้เรียนรู้ในที่เดียวด้วย ซึ่งดำเนินการดังกล่าวก็ได้ทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในประเด็นใหม่ ๆ ตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของการให้ความรู้สินทรัพย์ดิจิทัล คือ การนำความรู้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้พัฒนาช่องทางการสื่อสารความรู้ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์การรับสื่อของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เช่น ช่องทางออนไลน์อย่าง TikTok ThaiSEC_Official เพื่อสื่อสารความรู้สินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงความรู้การลงทุนที่เป็นประโยชน์ ไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ Facebook Start-to-invest เป็นช่องทางส่งต่อความรู้ในกลุ่มที่หลากหลาย และสามารถสื่อสารได้ผ่านสื่อหลายรูปแบบ เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกัน ยังนำความรู้สินทรัพย์ดิจิทัลการเข้าถึงประชาชนผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น จัดทำสารคดีสั้น “คริปโทน่ารู้ กับ ก.ล.ต.” จำนวน 50 ตอน เผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การจัดทำคู่มือคริปโทฉบับประชาชน “สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่รู้ไม่ได้แล้ว” ที่นำไปแจกจ่ายในโอกาสที่ลงพื้นที่ เช่น การออกบูธในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค 

 

ในปี 2566 ก.ล.ต. เปิดศักราชใหม่ด้วย หลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” (www.seccryptoacademy.com) เพื่อเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ข้อควรระวังในการซื้อขาย รวมถึงความรู้ในเชิงลึก เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างครบวงจร สะดวก และไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของขวัญที่มอบให้ประชาชนชาวไทย และเปิดให้เริ่มใช้งานแล้ว เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้ความเข้าใจเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ลงทุน ไม่ใช่เพียงเพื่อการลดความเสี่ยงซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น แต่เพื่อให้รู้เท่าทันภัยกลโกงที่แอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

 

โดยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ปี 2566 – 2568 ที่สอดรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ด้านการส่งเสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะเดินหน้าให้ความรู้การเงิน การลงทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยเป้าหมายหลักให้ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี การสนับสนุนให้ประชาชนใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม และปกป้องตนเองจากภัยกลโกง ซึ่งจะเป็นการยกระดับศักยภาพคนไทยให้มีความรู้ด้านการเงินการลงทุน (financial literacy) อย่างยั่งยืน

 

โดย : ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)