posttoday

รฟม. เร่งชงร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้บอร์ดพิจารณา สิ้น ม.ค.นี้

13 มกราคม 2566

รฟม. เตรียมนำร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงินลงทุน 1.4 แสนลบ. ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ให้บอร์ดพิจารณา สิ้นเดือน ม.ค.66 ประกาศเดินหน้าเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบบริการประชาชน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญา โดยตามขั้นตอน หากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ จะต้องรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

สำหรับ โครงการดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รฟม.ต้องดำเนินการ เพราะโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งนี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยปัจจุบันโครงการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 98% ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดเดินรถ เนื่องจากสัญญาเดินรถจัดรวมอยู่ในสัญญาร่วมลงทุนที่อยู่ระหว่างพิจารณาด้วย ทั้งนี้หากมีการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนแล้ว จะมีการทยอยจัดหาขบวนรถมาให้บริการส่วนตะวันออกโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายเปิดให้บริการเส้นทางนี้ในปี 2568

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเปิดเดินรถฝั่งตะวันออก ซึ่งจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รอผลการพิจารณาตามกระบวนการศาลปกครองด้วย หากร่างสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.จะต้องส่งเรื่องนี้ต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อตัดสินใจในการดำเนินการ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ รฟม.ภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ต้องรอดูว่า จะมีการรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้หรือไม่

 

ทั้งนี้ รายงานข่าวจาก รฟม.กล่าวถึงกรณีที่ รฟม.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุดนั้น ปัจจุบันรฟม.ได้จัดทำร่างสัญญา พร้อมส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ เบื้องต้นได้มีการดำเนินการตรวจสอบและส่งหนังสือตอบกลับต่อรฟม.เรียบร้อยแล้ว

 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ รฟม.เตรียมรายงานร่างสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านประเมินสูงสุด
 

 

ส่วนจะลงนามสัญญาได้ตามแผนที่วางไว้ภายในเดือนม.ค.นี้หรือไม่ ไม่สามรถบอกได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รอผลการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมของศาลปกครองก่อน

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ก่อนหน้านี้ รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค.2568 และส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.2570