posttoday

หอการค้าฯ ฟันธง! มูลค่าส่งออกไทยปี 66 โตเพียง 1% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี

10 มกราคม 2566

ม.หอการค้าไทย มั่นใจมูลค่าการส่งออกไทยปี 66 โตเพียง 1.0% โตต่ำสุดในรอบ 3 ปี มูลค่าหดตัวลงทุกตลาด ขณะที่สงครามรัสเชีย-ยูเครน กระทบจีดีพีโลกติดลบ 1% ฉุดส่งออกติดลบ 1.7%

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ “ส่งออกไทยปี 2566 โตแค่ไหนในยุคเศรษฐกิจโลกถดถอย” ว่า ศูนย์ฯ คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2566 จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดโลก 295,203 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 290,819 ถึง 296,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือขยายตัว 1.0 % หรือขยายตัวอยู่ในรอบติดลบ 0.5% ถึง 1.5%

 

โดย คาดการณ์การขยายตัวการส่งออกปี 2566 แยกรายประเทศ พบว่า ขยายตัวลดลงแถบทุกตลาด อาทิ ตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ขยายตัวอยู่ 0.6% ลดงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 14.5% มีมูลค่า 48,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 0.3% ลดลงจาก 0.8% มูลค่า 25,269 ล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพยุโรป(27) 0.1% ลดลงจาก 7.7% มูลค่า 27,092 เหรียญสหรัฐ และอาเซียน 1.2% ลดลงจาก 13.1% มีมูลค่า 65,150 เหรียญสหรัฐ

 

นอกจากนี้ ยังประเมิณว่า ส่งครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจโลกติดลบ 1% กระทบส่งออกไทยติดลบ 1.7% โดยไทยมีการส่งออกไปรัสเซีย และยูเครนคิดเป็น 0.43% ของมูลค่าส่งออกไทย และทั้งนี้ ในปี 2566 หากสงครามยังยืดเยื้อจะทำให้จีดีพีโลกทั้งปี หายไป หรือติดลบ 0.4%-1% มูลค่าส่งออกติดลบ 0.4%- ติดลบ1%

 

สอดคล้องกับ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ จะอยู่ในสภาวะชะลอตัว คาดว่า จีดีพีโลกจะชะลอตัว 2.7% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 3.2% ส่วน OECD คาดจีดีพีโต 2.2% ลดลงจาก 3.1% ในปี 2565

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกที่สำคัญในปี 2566 ได้แก่ 

1. เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว

2. ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ

3. ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สูง

4. อัตราเงินเฟ้อ ปี 2566 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2565 แต่ยังอยู่ในระดับสูง

5. ราคาวัตถุดิบและสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง

6. ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

7. การแยกห่วงโซ่อุปทาน (DECOUPLING) อุตสาหกรรมจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

1. การยกเลิกนโยบาย ZERO COVID ของจีน

2. ค่าเงินบาทยังคงอ่อนกว่าปี 2565 แต่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

3. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมของต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2566

4. เทรนด์ผู้บริโภคปี 2023 : “3ส” (สุขภาพ + สิ่งแวดล้อม + สังคม)

 

นอกจากนี้ ดร.อัทธ์ ยังระบุว่า ต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่ทั้งโลกยังคงสับสนกับจำนวนตัวเลขของคนติดโควิดในประเทศ เพราะรัฐบาลจีนไม่ได้มีการรายงานตัวเลขดังกล่าวแล้ว แต่ยังพบว่าจีนยังประสบปัญหาขาดแคลนเตียง แพทย์ หรืออุปกรณ์ทางการแพยท์ต่างๆไม่เพียงพอ 

 

ดังนั้นหากจีนยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากรรัฐบาลจีนสามารถบริหารจัดการได้ดี ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกสามารถไปต่อได้ เพราะนอกจากผลทางการค้าแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในประเทศอาเซียน รองลงมาจาก นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย