posttoday

จับเข่าคุย “พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์” กับแผน 5G เอ็นที ที่ยังรอการอนุมัติ

08 มกราคม 2566

เอ็นที ประมูลคลื่น 5G ทั้ง 2 คลื่น ได้แก่ 26 GHz และ 700 MHz ไปเมื่อ16 ก.พ.2563 แต่จนถึงขณะนี้ เอ็นที ก็ยังไม่สามารถทำแผนธุรกิจ 5G ได้ เนื่องจากแผนในการพัฒนายังติดอยู่ที่สภาพัฒน์ฯ

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวถึงเหตุผลที่แผนทำธุรกิจ 5G ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า เนื่องจากการประมูลคลื่นเกิดขึ้นในขณะที่เอ็นทียังไม่มีการควบกิจการกัน ระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม แต่ละบริษัทจึงต่างคนต่างเสนอแผน ดังนั้นเมื่อทั้ง 2 บริษัทรวมกันในวันที่ 7 ม.ค. 2564 สภาพัฒน์ฯจึงต้องการเห็นแผน 5G ทั้ง 2 คลื่นในแผนเดียวกัน รวมถึงแนวทางในการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากที่สุด

 

จากวันที่ประมูลจนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่าโครงการ 5G ของเอ็นทีล่าช้ามาก เอ็นทีมีความหวังว่าแผนจะผ่านบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ในวันที่  7 ก.พ. 2566 นี้ เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้เห็นชอบก่อนหมดวาระในเดือน มี.ค. 2566 ยิ่งการอนุมัติล่าช้า ก็ยิ่งส่งผลต่อรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ยิ่งเดินแผนช้า ความคุ้มค่าในการลงทุนก็ยิ่งลดลง ขณะที่เอกชนลงทุนและมีลูกค้า 5G แล้ว ทั้งลูกค้าองค์กรและลูกค้าคอนซูเมอร์
 

 

หลังจากประมูลคลื่นได้จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz ที่ประมูลมากว่า 35,000 ล้านบาท มีการจ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้วกว่า 6,600 ล้านบาท คลื่นที่ประมูลมาได้ 10 MHz เอ็นทีทำเอง 5 MHz เพื่อรองรับการขยายลูกค้า 4G ที่เหลืออีก 5MHz ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ก็ล่าช้าไปด้วย

 

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า แผนทำธุรกิจ 5G บนคลื่น 700 MHz ที่เอ็นทีทำเองนั้น จะเป็นการขยายความสามารถในการให้บริการลูกค้า 4G ของเอ็นทีเองจากเดิมที่มีลูกค้าอยู่ที่ 2.3 ล้านเลขหมาย ขยายเป็น 4 ล้านเลขหมายได้ รวมถึงนำไปใช้เป็นบริการ IoT ซึ่งจะสามารถขยายบริการได้มากกว่า 4 ล้านเลขหมาย เพราะใช้แบนด์วิธไม่มาก คาดว่าจะมี IRR (Internal Rate of Return) อยู่ที่ 7-8% โดยขอกรอบงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ตลอดอายุใบอนุญาต

 

ขณะที่คลื่น 26 GHz เป็นการให้บริการ 5G กับภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เป็นการขอกรอบงบประมาณตามโครงการที่ลงทุน ซึ่งครั้งนี้ขออนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะนี้มีลูกค้าแล้วคือ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) คาดว่าจะมี IRR อยู่ที่ 20% ซึ่งหากสามารถเริ่มดำเนินการได้จะช่วยให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมาดีขึ้นได้อย่างแน่นอน