posttoday

สร้างมูลค่า TRITN ทำ Backlog แตะ 1.2 หมื่นล้าน เทียบชั้นก่อสร้างยักษ์ใหญ่

08 มกราคม 2566

หลุยส์ เตชะอุบล ทายาทสาวแกร่งจากครอบครัวนักลงทุน พลิก TRITN โตด้วยธุรกิจก่อสร้าง Specialize Engineering จน Backlog แตะ 1.2 หมื่นล้านสิ้นปีนี้ สร้างชื่อยืนหนึ่งด้านงานระบบรถไฟในไม่เกิน 3 ปี ส่วน GLOCON ขอคว้าโอกาสด้วย Plant-based เล็งพากิจการสบู่มาดามหลุยส์เข้าตลาดหุ้น

แม้ หลุยส์ เตชะอุบล จะเป็นหนึ่งในทายาทของ ‘สดาวุธ-อรวรรณ เตชะอุบล’ นักธุรกิจเจ้าของ คันทรี กรุ๊ป กลุ่มบริษัทเงินลงทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ด้วยเลือดนักลงทุนที่เข้มข้น เธอจึงไม่เคยปล่อยโอกาสที่จะสร้างกิจการด้วยมือของตัวเองขึ้น 

 

นำไปสู่การก่อเกิด บมจ. ไทรทัน โฮลดิ้ง หรือ TRITN บริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจกลุ่มพลังงานและการก่อสร้างขึ้น เมื่อปี 2558 ที่เดิมคือ บมจ. ไลฟ์อินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อโฆษณามาก่อน โดยปัจจุบัน หลุยส์เป็นทั้งประธานกรรมการบริหารของ  TRITN และถือหุ้นในสัดส่วนราว 15% (ณ 16 เดือนมีนาคม 2565) 

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังเข้ามาบริหารบริษัท โดยพลิกจากบริษัทสื่อที่ทำป้ายโฆษณา มาสู่ด้านธุรกิจก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือ Specialize Engineering ที่เน้นรับงานโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินงานผ่าน บมจ. ไทรทัน เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ TTEC 

 

หลุยส์ย้อนเวลาไปถึง เส้นทางเดิมของบริษัทก่อนเปลี่ยนมายึดฐานธุรกิจก่อสร้างดังปัจจุบันว่า แรกเริ่มที่เข้ามาบริหาร TRITN ตั้งแต่เมื่อปี 2558 นั้น บริษัทมีป้ายโฆษณาอยู่กว่า 100 ป้าย ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะยังเป็นธุรกิจสีเทา ด้วยป้ายโฆษณาหลายจุดในเมืองไทยยังผิดกฎหมาย ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอยู่ตลอด

 

อีกทั้งการขยายธุรกิจป้ายโฆษณาต้องซื้อป้ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเธอไม่อยากให้เมืองไทยมีแต่ป้ายเต็มไปหมด จนบ้านเมืองดูไม่สวยงาม ที่ต่างจากในเมืองนอกที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนและทำให้ดูสวยงาม จึงไม่อยากให้บริษัทยังคงทำธุรกิจป้ายโฆษณาต่อและมองว่าเมื่อ บมจ. แพลน บี มีเดีย มีความเชี่ยวชาญกว่า จึงเลือกที่จะขายธุรกิจธุรกิจสื่อป้ายโฆษณากลางแจ้งและป้ายโฆษณาดิจิตอล (LED) ให้กับ PLANB ไป

 

ขณะที่เดิม ไทรทันฯ มีบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท สเตรกา จำกัด ซึ่งทำธุรกิจก่อสร้างท่อน้ำมันและเป็นผู้นำตลาดด้านขุดเจาะมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ไทรทัน เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ TTEC ตั้งแต่เมื่อปี 2562 แล้วกลายเป็นกำลังหลักของการปั้นรายได้ให้แก่ TRITN  อยู่ในปัจจุบัน

 

เราพลิกจากบริษัทเล็ก ๆ ในตอนนั้น ให้มาเป็นแกนหลักของไทรทันในปัจจุบัน

 

TTEC มีความชำนาญทางวิศวกรรมหลายด้าน ได้แก่ ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารโครงการก่อสร้าง ยังเป็นผู้นำในการวางโครงสร้างวิศวกรรมหมวดธุรกิจน้ำมันและก๊าซ งานวางระบบรางรถไฟ และการกก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวภาพและโรงไฟฟ้าจากขยะ) ด้วยความชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้ จึงมุ่งให้บริการครอบคลุมโครงการที่มีมูลค่าหลากหลาย

 

นับจากที่เข้ามาบริหารกิจการ TRITN ก็มีการเติบโตของธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมี Backlog ปีละ 200 ล้านบาทต่อปีในช่วงแรก ก็ขยับมาเป็น 3 พันล้านต่อปีได้ ภายในเวลา 1 ปี แต่หลังจากจบโครงการแรก ๆ ได้ 2-3 ปี ทางบริษัทก็ต้องเผชิญผลกระทบจาการแพร่ระบาดของ Covid-19 

 

สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น Backlog ของ TRITN ได้ขึ้นมาอยู่ 3 พันล้านบาทใหม่อีกครั้ง ซึ่งในสิ้นปีที่ผ่านมาจบที่ 4 พันล้านบาท ส่วนต้นปี 2566 จะอยู่ที่ 7 พันล้านบาท  และสิ้นปีนี้จะมี Backlog จบที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท 

 

เราหางานอย่างหนักจนได้ทำโครงการขนาดใหญ่จบในครั้งแรก ก็มีส่วนทำให้ได้เข้าไปอยู่ใน vendor list ของหน่วยงานภาครัฐและโครงการใหญ่ทั้งหลายในไทย จึงทำให้มีงานอื่น ๆ ตามมา  จนบริษัททำกำไรได้ตลอด 3 ปี แต่มาเจอ Covid-19 ทำให้ขาดทุนไปหนึ่งปี แต่พลิกกลับมาได้แล้วในปี 2565 

 

หลุยส์ฉายภาพสถานการณ์ของบริษัทอีกว่า แม้จะเริ่มขยายงานมาแล้วตั้งแต่ปีก่อน แต่จะเริ่มจริง ๆ ในต้นปีนี้และถัดไปอีก 1 ปี ดังนั้นการเติบโตของ TRITN จึงเน้นหนักในปีนี้แบบเต็ม ๆ ดังนั้นเมื่อ Backlog แตะถึง 1.2 หมื่นล้านต่อปี จึงถือเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่เน้นด้านท่อน้ำมันกับรางรถไฟเช่นเดิม 

 

ส่วนภารกิจต่อไปของบริษัท หลุยส์เล่าว่า จะเห็นเรื่องแนวทางการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคต เพราะตอนนี้ฐานเงินทุนยังเล็กเกินกว่าที่จะรับงานมูลค่าสูง แต่ปีนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รอมานานแล้ว นอกจากนี้งานที่บริษัทรับส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะเป็นงานที่รับจ้างเองโดยตรง หรือ main contract  ของลูกค้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือรัฐบาลเท่านั้น 

 

แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งอยู่ก็ตาม ซึ่งมีสัดส่วนเงินกู้น้อยมาก โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Debt to Equity Ratio (DE Ratio) อยู่ที่ 1% ดังนั้นการเตรียมเงินเพื่อขยายธุรกิจในครั้งนี้ จึงจะมาจากแหล่งเงินกู้ ไม่ว่าจะออกหุ้นกู้หรือจะขอสินเชื่อจากธนาคาร

 

สร้างมูลค่า TRITN ทำ Backlog แตะ 1.2 หมื่นล้าน เทียบชั้นก่อสร้างยักษ์ใหญ่

 

ล่าสุด TRITN  ได้รับงานก่อสร้างวางท่อประปาและงานที่เกี่ยวข้องพร้อม โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (งานปรับปรุงท่อ) ของรฟม. มูลค่างานรวมกว่า 540 ล้านบาท จากการประปานครหลวง ที่จะเริ่มต้นโครงการภายในไตรมาสที่ 1/2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างภายในไตรมาสที่ 4/2567

 

สำหรับมุมมองต่อการเติบโตของปีนี้นั้น หลุยส์มองว่าครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีงานเข้ามาอีกที่มูลค่าอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท ดังนั้นจึงถือเป็นปีที่ดีที่สุดเท่าที่ TRITN เคยมีมา นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทยังมีงานที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะมีโครงการเกิดขึ้นอีกประมาณ 15 โครงการ 

 

ในครึ่งแรกของปีนี้ มองว่า Backlog จะเพิ่มถึง 8 พันล้านบาทแน่นอน แล้วก็คิดว่าเป็น All Time High ของ TRITN ด้วย ในแง่ของ Construction ซึ่งด้วย Backlog 8 พันล้านบาท จะเพียงพอเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้เราไปได้อีก 2-3 ปี

 

หลุย์ยังพูดถึงเป้าหมายที่วางไว้สำหรับ TRITN ว่า จากเดิมที่คนภายนอกเคยมองว่าบริษัทเก่งเรื่องท่อน้ำมัน แต่ตอนนี้หลังจากที่บริษัทลูกอย่าง TTEC เข้าไปซื้อ บริษัท ทรานส์ ไทย เรลเวย์จำกัด (TTR) แล้ว ก็ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านการรับเหมาก่อสร้างสถานีรถไฟรางคู่มากขึ้น ซึ่งอีก 6-7 ปีข้างหน้างานก่อสร้างของไทยจะเน้นหนักที่ระบบรถไฟมากขึ้น 

 

ดังนั้นวันหนึ่งใน 2-3 ปีข้างหน้าก็อยากให้คนรับรู้หรือนึกถึงเราเป็นชื่อแรก ๆ ว่า เราเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทางด้านก่อสร้างด้านรถไฟจริง ๆ เพื่อทำให้มูลค่าของไทรทัน หรือ PE สูงกว่าที่ตลาดมองในตอนนี้ 

 

หลุยส์แฮปปี้ที่ไทรทันมาอยู่ในจุดนี้ได้ จากเดิมที่ไม่เคยมีใครรู้จักเลย จนตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าเก่งสุดในด้านก่อสร้างท่อน้ำมัน แต่ต่อไปก็อยากให้รู้จักว่าเราเชี่ยวชาญระบบงานรถไฟ

 

GLOCON คว้าโอกาส Plant-based

 

นอกจากจะยืนหยัดในธุรกิจก่อสร้างด้าน Specialize Engineering แล้ว TRITN ยังเริ่มต่อยอดการลงทุนไปสู่แขนงอื่น ๆ ด้วยการเข้าไปลงทุนใน บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและบรรจุภัณฑ์ เมื่อปี 2564 

 

หลุยส์เล่าว่า ตอนที่มาบริหาร GLOCON เป็นช่วง Covid-19 ยังแพร่ระบาด ซึ่งพบว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจอาหารยังเติบโตได้ดี จึงมองว่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัทได้ อีกทั้งแม้ตอนที่ซื้อจะมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้าง แต่หลังเพิ่มทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องที่ใช้ไปซื้อธุรกิจลูกชิ้นทิพย์และมี working capital ให้บริษัทขยายตัวได้ โดยเฉพาะเมื่อถึงจุดที่รายได้ของธุรกิจลูกชิ้นทิพย์กลับมาจะทำให้ GLOCON แข็งแรงได้ 

 

แม้ปีที่ผ่านมาตัวเลขผลการดำเนินงานของ GLOCON จะพลาดเป้าไป เพราะหลังจากย้ายโรงงานแล้วทำให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นตามที่ทีมผู้บริหารเดิมมองไว้ แต่หลุยส์เชื่อว่าปีนี้ทุกอย่างพร้อมแล้วจะทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ด้วยยอดขายใหม่เข้ามา จึงยังมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่ดีมาก ๆ และได้มาในราคาที่ดีมากด้วย เพราะซื้อกิจการมาในช่วง Covid-19 กำลังแพร่ระบาดด้วย 
 

โดย GLOCON เน้นทำธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจอาหาร ได้แก่ อาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน ลูกชิ้นทิพย์ และผลไม้อบแห้ง สัดส่วน 73% 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่าง ๆ สัดส่วน 24% และ 3.ธุรกิจเทรดดิ้ง สัดส่วน 3% ของรายได้รวม 

 

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเพิ่มความหลากหลายรองรับความต้องการของตลาด เช่น ไลน์อาหารแช่เย็น (Chilled Food) ผลิตภัณฑ์หมวดซีฟู้ด รวมไปถึงน้ำจิ้ม ซอสปรุงรส และไส้กรอกหลากหลายรสชาติ พร้อมเดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต

 

สร้างมูลค่า TRITN ทำ Backlog แตะ 1.2 หมื่นล้าน เทียบชั้นก่อสร้างยักษ์ใหญ่

 

ระยะต่อไป GLOCON มองหาโอกาสในธุรกิจอาหารแนว Plant-based (อาหารที่มาจากพืชอย่างน้อย 95%) มากขึ้น เพื่อปูทางให้เป็นบริษัทอาหาร ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ยี่ห้อ Ko Tae Xin ที่มีทั้งน้ำปลา น้ำมันหอย ซอสปรุงรส น้ำจิ้มต่าง ๆ ฯลฯ 

 

แม้ว่าตอนนี้ Plant-based  ในเมืองไทยยังไม่ได้แพร่หลายนัก จึงส่งผลิตภัณฑ์ไปขายยังต่างประเทศก่อน แต่เชื่อว่าต่อไปตลาด Plant-based ในไทยจะเติบโตขึ้นแน่ นอกจากนี้จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของว่างที่ทำจากผลไม้อบแห้งในรูปแบบของ Functional Food Snack ที่มีน้ำตาลน้อยมากแต่มีวิตามินสูง ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ซึ่งมองว่าน่าจะดีกับสุขภาพของเด็กและผู้ปกครองน่าจะยินดีซื้อให้ลูก ๆรับประทาน

 

เรายังมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ลูกชิ้นทิพย์  5 ดาว ที่จะขายไม้ละ 30 บาท เพราะใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศล้วน รับรองได้ว่าคุณจะไม่เคยกินลูกชิ้นที่อร่อยขนาดนี้มาก่อน

 

นอกจากนี้ยังมีอีกธุรกิจที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยในช่วงที่เริ่มเปิดตัว คือ ‘สบู่มาดามหลุยส์’ เพราะสร้างสรรค์โดยมีแรงบันดาลใจมาจากตัวของเธอเอง ที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติเกรดพรีเมียมแต่ราคาจับต้องได้ และมีให้เลือกใช้เพื่อประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น เป็นสิว ผิดคล้ำหรือมีจุดด่างดำ ป้องกันแบคทีเรียและระงับกลิ่นกาย เป็นต้น 

 

ปัจจุบันสบู่มาดามหลุยส์อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทย่อยในเครือ TRITN คือ บริษัท ไทรทัน รีซอร์สเซส จำกัด ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะต้องสามารถนำกิจการของสบู่มาดามหลุยส์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ หากสามารถทำกำไรแตะ 20 ล้านต่อปีได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นในปีนี้ได้

 

หลังเปิดตัวมาได้ประมาณ 6 เดือน ก็มีกระแสตอบรับดีจนขึ้นมาเป็น Top 5 ของสบู่ในเมืองไทยแล้ว ตั้งแต่ปีก่อน สำหรับปีนี้คาดว่าจะยิ่งดีกว่าเดิม แต่ยังมีงานอีกมากที่ยังต้องทำ
 

 

สร้างมูลค่า TRITN ทำ Backlog แตะ 1.2 หมื่นล้าน เทียบชั้นก่อสร้างยักษ์ใหญ่

 

หลุยส์เปิดเผยอีกว่า ตัวเธอเองก็ยังคิดเรื่องลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังมาแรงอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาไปเริ่มทำอย่างจริงจัง แต่มองว่าควรทำสองธุรกิจปัจจุบันให้ดีก่อน ซึ่งชัดเจนว่าอาหารคือหนึ่งในธุรกิจที่ไปได้ดีมาก 

 

สำหรับกุญแจสำคัญที่ทำให้องค์กรสำเร็จได้ในมุมมองของหลุยส์ คือ 'คน' โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ของคน เพราะหากไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ ก็อาจทำให้บริษัทเสียโอกาสสำคัญไปได้ นอกจากนี้ คือ การสื่อสารที่ดี เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม  ขณะที่ในฐานะผู้นำที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้าได้นั้น หลุยส์บอกว่า ‘การแก้ปัญหา’ คือ กลไกลสำคัญที่เธอนำมาใช้มากที่สุด เพื่อให้บริษัทได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ น้อยที่สุด แต่สามารถเติบโตได้เร็วที่สุด และดีที่สุด

 

เวลาเกิดปัญหาหลุยส์ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ก่อน จะได้รู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงเกิด คนที่เป็นต้นตอของปัญหาคิดอะไร และมีใครเกี่ยวข้องด้วยอีกบ้าง จึงจะหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ผลจริงหรือให้รอดพ้นจากปัญหานั้นไปได้ 
 

 

สำหรับด้านชีวิตส่วนตัวนั้น หลุยส์ เป็นทายาทคนที่ 3 ของคุณพ่อคุณแม่ เธอจบการศึกษาปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจและการเงิน จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร (เกียรตินิยม) และ ปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์ด้านการเงินและระบบสารสนเทศ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย 

 

นอกจากบทบาทด้านธุรกิจแล้ว หลุยส์ยังเป็นคุณแม่ของลูกชายหญิง 4 คน และภรรยาของ ภสุ วชิรพงศ์ ผู้เป็นทายาทของ ‘วิชาญ วชิรพงศ์’ นักธุรกิจผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวรายใหญ่ของประเทศไทย ตราสิงห์ทอง โดยเขาสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากประเทศออสเตรเลีย  ปัจจุบันเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นผู้ถือหุ้นอันดับต้น ๆ บมจ. โกลบอล คอนซูเมอร์ ด้วย