posttoday

เศรษฐกิจไทยโตช้าพ่าย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯ ขณะที่มาเลฯ นำโด่งโต 14.2%

28 ธันวาคม 2565

"ส่งออกหายใจแผ่ว–พิษโควิด-19" ฉุดจีดีพีไทย ไตรมาส 3 ปี 65 ฟื้นตัวอันดับท้ายๆ ของกลุ่มประเทศในอาเซียน ขณะที่มาเลเซีย เศรษฐกิจขยายตัวโตนำโด่ง 14.2% ตามด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์

ปี 2566 เศรษฐกิจไทยเปิดศักราชใหม่ รับ "ปีเถาะ" ด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ก้าวกระโดดได้ดีกว่าปี 2565 หลังจากช่วงที่ผ่านมาทั่วโลก รวมถึงไทย ต้องเผชิญพิษร้ายของไวรัสโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงอย่างหนัก

 

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลง จีดีพี ไตรมาส 3 ปี 2565 ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ 4.5% หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับดำเนินกิจกรรมได้ปกติ ซึ่งอัตราการเติบโตที่ 4.5% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้ว ตอนนี้จีดีพี และมูลค่าของจีดีพีไทยจะอยู่ตรงไหน  ประเทศใดฟื้นตัว และเติบโตสูงสุด ไปดูกัน

 

เศรษฐกิจไทยโตช้าพ่าย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯ ขณะที่มาเลฯ นำโด่งโต 14.2%

 

หลายคนคงมีคำถามว่า เพราะเหตุใด จีดีพีไทย ถึงเกือบรั้งท้ายกลุ่มประเทศในอาเซียน ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ชี้ว่า สาเหตุมาจากการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังคงหายใจแผ่ว โดยเฉพาะส่งออกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่หดตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 20 เดือน จนต้องรอให้ภาคการท่องเที่ยวทำหน้าที่เป็นพระเอกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนไปก่อน

 

ขณะที่ ธนาคารโลก ได้อธิบายสาเหตุ ที่แต่ละประเทศฟื้นตัวไม่เท่ากัน ว่า มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก้

 
1.    ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 
2.    ความสามารถในการส่งออก รวมไปถึงการท่องเที่ยว 
3.    ขีดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่


สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี แต่เนื่องจากการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าประเทศอื่น นำมาซึ่งหดตัวตัวอย่างหนัก และต่อเนื่องในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ขณะที่การส่งออกที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และทยอยฟื้นตัวในปีนี้ก็ไม่มีทางชดเชยได้ จึงไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรั้งท้ายในอาเซียน