posttoday

แบงก์คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้งอยู่ที่ 2% ในปี66

01 ธันวาคม 2565

แบงก์พาณิชย์ ประสานเสียงปี 2565 กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2% ในไตรมาส 2 ปี 2566 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อสูง แตะระดับขอบบนที่ 3%

ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 1.25 ต่อปี เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 รวมทั้งสิ้น 0.75% ในปี 2556 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนนั้น ทำให้  Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ที่ปรับขึ้นเป็น 3.0 จากเดิม 2.6% แตะระดับขอบบนของกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ต่อไป และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขึ้นไปแตะระดับ 2.00% ในปี 2566 ทั้งนี้ กนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ

สอดคล้องกับ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดย SCB EIC ที่คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2 % ในไตรมาส 2 ปี 2566 เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆกลับ สู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตเศรษฐกิจไทยระยะยาว ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่สามารถปรับขึ้นสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องการเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและยูโรโซนจะถดถอยต่อเนื่องจากปลายปีนี้ ทำให้อุปสงค์โลกชะลอลงมาก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ 

โดย EIC ประเมินว่า กนง.จะประเมินจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าการทำ Policy normalization ทั้งนโยบายการเงิน และมาตรการการเงินที่จะสิ้นสุดภายในครึ่งแรกของปี 2023 เช่น มาตรการลด FIDF fee ชั่วคราวที่จะสิ้นสุดในปีนี้  และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนปีหน้า จะไม่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วมากจนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง