posttoday

‘น้ำเมา’ แหล่งมั่งคั่ง 'เจริญ' ส่งไทยเบฟฯ โตไม่แผ่ว

01 พฤศจิกายน 2565

ความมั่งคั่งที่สะสมจากธุรกิจน้ำเมาทั้งสุราและเบียร์กับอีกสารพัดกิจการ เป็นฐานสำคัญที่ทำให้เจ้าสัวเจริญไม่หลุดจากตำแหน่งคนรวยอันดับสองของไทยจากการจัดอันดับของ Forbes ล่าสุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 เดือนกรกฎาคม 2565

ต่อให้ยอดขายเบียร์ช้างจากค่าย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ตัวเขานั่งเป็นประธานกรรมการอยู่นั้น ยังเป็นรองเบียร์ลีโอของค่ายสิงห์อยู่ทั้งในตลาดไทยและ ASEAN  (จากการรายงานของ GlobalData)

แต่เรื่องความมั่งคั่งที่สะสมมาจากธุรกิจน้ำเมาทั้งสุราและเบียร์ ที่ภายหลังได้ต่อยอดจากฝั่งอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การดูแลของ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ควบคู่กับอีกสารพัดกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นฐานสำคัญที่ส่งให้อดีตลูกชายของครอบครัวหาบเร่ข้างทางในกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อนไม่หลุดจากตำแหน่งคนรวยอันดับสองของไทยจากการจัดอันดับของ Forbes ล่าสุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565

 การดำเนินธุรกิจของครอบครัวสิริวัฒนภักดีหลัก ๆ จะอยู่ภายใต้กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (Thai Charoen Corporation Group) หรือ TCC Group ที่เดิมเริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปี 2503 มีการเติบโตและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนมาเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจสำคัญ 5 สาย คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ธุรกิจประกันและการเงิน ตลอดจนธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

แต่กว่าจะเป็น TCC Group ในวันนี้ ลูกชายของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ อย่างเจ้าสัวเจริญได้เริ่มสร้างตัวจากธุรกิจการค้าตั้งแต่ยังเด็ก กระทั่งเมื่อสมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ทั้งสองก็ร่วมมือกันเสริมสร้างกิจการของครอบครัวให้เติบโต

จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา มาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี โดยได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นเบียร์ แอลกอฮอล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์  ฯลฯ

ตามมาด้วยเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ กลุ่มเกษตร รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น

ทิศทางความมั่งคั่งของ ‘สิริวัฒนภักดี’

‘น้ำเมา’ แหล่งมั่งคั่ง 'เจริญ' ส่งไทยเบฟฯ โตไม่แผ่ว

ทั้งนี้ จากตัวเลขผลประกอบการล่าสุดที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ บมจ. ไทยเบฟฯ พบว่า รายได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์ทั้งเหล้าและเบียร์อยู่ที่เกือบ 90% ของรายได้รวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (ณ 31 มีนาคม 2565)

แล้วยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง (ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ) จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 ที่คลี่คลายดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ฐานรายได้หลักของบริษัทกว่า 75% มาจากตลาดในเมืองไทย

แม้ธุรกิจน้ำเมาทั้งสุราและเบียร์จะครองส่วนแบ่งรายได้หลักของบริษัท แต่ บมจ. ไทยเบฟฯ  ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ คือเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ และ อาหาร ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คนไทยต่างคุ้นเคยและบริโภคกันอยู่ เช่น เครื่องดื่มเอส โออิชิ เคเอฟซี สตาร์บัคส์ เป็นต้น

สำหรับ Market Cap. ของบมจ. ไทยเบฟฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) ล่าสุดอยู่ที่ราว 1.44 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

‘น้ำเมา’ แหล่งมั่งคั่ง 'เจริญ' ส่งไทยเบฟฯ โตไม่แผ่ว

ผลัดใบส่งให้ไทยเบฟฯ แกร่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจและต้องจับตามอง คือหลังจาก บมจ. ไทยเบฟฯ ดำเนินการเรื่องซื้อหุ้น F&N ที่ประมาณ 28.6% เสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ขยับขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มระดับภูมิภาค

หลังจากนี้บมจ. ไทยเบฟฯ จะสานต่อเป้าหมาย PASSION 2025 เพื่อให้ “แข็งแกร่งกว่าเดิม”  ด้วยการขับเคลื่อนแผนการดําเนินงานระยะ 5 ปี ที่จะมีการทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ

1) สร้างสรรค์ความสามารถและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ 2) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลักเพื่อเป็นผู้นำตลาด 3) นำศักยภาพของบริษัทมาผลักดันให้เกิดมูลค่าสูงสุด

โดยที่เกิดขึ้นล่าสุดคือการปรับทัพครั้งใหญ่เข้าสูยุคผลัดใบ ด้วยการตั้งแต่ผู้บริหารรุ่นใหม่หลาย ๆ คนขึ้นมาทดแทนรุ่นเก่าจากยุคเจ้าสัวเจริญ เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จากการบอกเล่าของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้เป็นลูกคนที่ 3 ของบ้านแต่เป็นบุตรชายคนโต ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟ

พร้อมมีแผนลงทุนประมาณ 5-8 พันล้านบาท โดยเน้นด้านการขนส่งและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในเครือ รวมไปถึงการมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ของบริษัทในประเทศเพื่อนบ้านย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าจะหาข้อสรุปได้ภายในปีหน้า