posttoday

ชง ‘บิ๊กตู่’ เคาะแก้ปัญหารถติดหนักมาก 12 เส้นทาง

03 สิงหาคม 2562

'คมนาคม' พ่วงแผนแม่บท 12 เส้นทางขนส่งทางเรือเชื่อมรถไฟฟ้า เล็งนำร่องคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมกรุงเทพ-ชานเมือง ผุดไอเดียถนนสตรีทฟู้ด ดูดนักท่องเที่ยว เยาวราช-บางลำพู-ข้าวสาร

'คมนาคม' พ่วงแผนแม่บท 12 เส้นทางขนส่งทางเรือเชื่อมรถไฟฟ้า เล็งนำร่องคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมกรุงเทพ-ชานเมือง ผุดไอเดียถนนสตรีทฟู้ด ดูดนักท่องเที่ยว เยาวราช-บางลำพู-ข้าวสาร

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังจากประชุมแก้ปัญหารถติดว่า สำหรับแผนแก้ไขปัญหารถติดระยะเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมเห็นควรร่วมกับกรุงเทพมหานครนั้นได้แก่ การแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนเส้นสำคัญที่รถติดหนักมาก 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณแยกพระราม9-ประดิษฐ์มนูธรรม 2.ถนน ทล.305 รังสิต-นครนายก ช่วงรังสิต-คลอง 10 และ 3.ถนนตัดใหม่ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า

ส่วนด้านแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรที่เตรียมเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดระบบการจราจร ทางบก (คจร.) ซึ่งจะมีการเสนอในการประชุม คจร.ครั้งแรกของรัฐบาลใหม่ในอีกไม่นานนี้ โดยมีทั้งสิ้น 9 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย 1.วงแหวนรัชดาภิเษก 2.มอเตอร์เวย์สาย 7-ทางด่วนพิเศษศรีรัช 3.ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน 4.สะพานตากสิน ช่วงราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์

5.ทางด่วนขั้นที่1 ช่วงต่างระดับอาจณรงค์ 6.ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9-พระราม2 7.สะพานคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 8.ทางด่วนฉลองรัช-ลำลูกกา 9.ถนนราชพฤกษ์ ช่วงชัยพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ และการแก้ปัยหาจราจรต่อเนื่องในอีก 3 เส้นทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ได้แก่ 10.ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา 11.ถนนรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-เทพารักษ์ และ 12.ถนนพระราม 9-รามคำแหง

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรที่มีประสิทธิภาพนั้นเห็นร่วมกันว่าควรใช้การสัญจรทางน้ำมาเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนเพื่อลดปัญหาจราจรและลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลได้อีกด้วย โดยจะพัฒนาท่าเรือในกรุงเทพให้เป็นสถานีเรือโดยการเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อแลกกับเปิดให้เอกชนสามารถหารายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาดังกล่าวบนระยะเวลาที่ตกลงกันสนับสนุนนโยบายการเดินทางแบบล้อ-ราง-เรือ

นอกจากนี้ยังมีแผนแม่บทพัฒนาการเดินเรือทางน้ำใน ลำคลองที่มีศักยภาพ 12 แห่ง ได้แก่ 1.คลองผดุงกรุงเกษม 2.คลองภาษีเจริญ 3.คลองมหาสวัสดิ์ 4.คลองอ้อมนนท์ 5.คลองเปรมประชากร 6.คลองลาดพร้าว 7.คลองรังสิต 8.คลองประเวศบุรีรมย์ 9.คลองบางลำพู 10.คลองแสนแสบ 11.คลองบางกอกน้อย 12.คลองบางกอกใหญ่

ขณะที่บางคลองนั้นมีการเดินเรืออยู่แล้วต้องเพิ่มเที่ยวเรือ ส่วนคลองที่ยังไม่มีการเดินเรือจำนวน 7 แห่งนั้นต้องเร่งหาตัวผู้ประกอบการเดินเรือ โดยในช่วงแรกจะให้เอกชนท้องถิ่นดำเนินการก่อนหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)ว่าจะให้ใครเข้ามาดำเนินการ่อไปเป็นภาครัฐหรือเอกชน

สำหรับคลองที่มีศักยภาพมากที่สุดสามารถนำร่องได้ก่อนนั้นคือ คลองขุดมหาสวัสดิ์ ระยะทางรวมกัน 26 กม. มีจุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อคลองบางกอกน้อย-มหาสวัสดิ์ และมีจุดสิ้นสุดที่ประตูน้ำฉิมพลี โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพชั้นใน-กรุงเทพชั้นนอกและสามารถต่อเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงได้เพราะเป็นเส้นทางที่ขนานกัน ปัจจุบันคลองดังกล่าวมีท่าเรือขนาดเล็กอยู่ 8 ท่าเรือ แต่ต้องเข้าไปปรับปรุงให้พร้อมสำหรับรองรับผู้โดยสารหลังจากนี้จะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการ

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีไอเดียการพัฒนาถนนสายอาหาร (Street Food Road) รอบกรุงเทพมหานครในพื้นที่มีอาหารริมทางขายจำนวนมากสามารถส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ วึ่งจะเน้นการบริหารจัดการจราจรให้ร้านค้าสามารถทำการได้โดยไม่กีดขวางการสัญจร และนักท่องเที่ยวสามารถเดินได้สะดวกสบาย ส่วนเสนทางที่มีศักยภาพเช่น ถนนเยาวราช ถนนข้าวสารและถนนบางลำพูเป็นต้น หลังจากนี้จะมีแผนแม่บทที่ชัดเจนอีกครั้งว่าจะผลักดันถนนเส้นไหนบ้าง