posttoday

กฟผ.เปิดซองโรงถ่านหินกระบี่

28 กรกฎาคม 2559

กฟผ.เปิดซองราคาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ท่าเทียบเรือ กลุ่มไชน่าพาวเวอร์-อิตาเลียนไทยเสนอราคาต่ำสุด

กฟผ.เปิดซองราคาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ท่าเทียบเรือ กลุ่มไชน่าพาวเวอร์-อิตาเลียนไทยเสนอราคาต่ำสุด

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ทำการเปิดซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือ ปรากฏว่าเอกชนที่เสนอราคาต่ำที่สุด คือ กลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (Power Construction Corporation of China) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

"หลังจากนี้ กฟผ.จะมีการเจรจาและตรวจสอบคุณสมบัติกับกลุ่มที่เสนอราคาต่ำสุด ทั้งในด้านความพร้อม ฐานะการเงิน และความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะสามารถประกาศผู้ชนะการประมูลได้อย่างเป็นทางการได้ ในขณะที่การจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์จะต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 ปี จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าในเดือน ธ.ค. 2562 เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสการคัดค้านและทำให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น" นายรัตนชัย กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย เสนอราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท และเสนอราคาก่อสร้างทางเทียบเรือและระบบขนถ่ายถ่านหินที่ราคาประมาณ 9,200 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท

นายรัตนชัย ระบุว่า ในส่วนการดำเนินการตามขั้นตอนก่อนจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น กฟผ.ยังคงเดินหน้าตามกระบวนการเตรียมความพร้อมของโครงการ โดยเฉพาะข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะได้ความชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ รวมถึงแนวทางปฏิบัติในด้านการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แม้ว่าจะได้ตัวผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด และจะได้ผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการในอีก 3 เดือนจากนี้ ก็จะยังไม่มีการลงนามสัญญาก่อสร้างแต่อย่างใด เพราะจะต้องรอจนกว่าจะมีความชัดเจนในด้านต่างๆ แล้ว

ขณะเดียวกัน กฟผ.จะต้องเริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาเพื่อออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือคิดเป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี จากนั้นจึงจะเป็นช่วงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือ โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี

นายรัตนชัย ย้ำว่า เอกสารประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือกำหนดว่า การยื่นซองประกวดราคาครั้งนี้ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เนื่องจาก กฟผ.ระบุในเงื่อนไขทีโออาร์ขอสงวนสิทธิการออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent-LOI) ว่า จะออกเอกสารสนองรับราคา ก็ต่อเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบรายงาน (EHIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น

รายงานข่าวจาก กฟผ.แจ้งว่า มีเอกชนยื่นซองประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 2 ราย คือ 1.กลุ่มบริษัทร่วมค้าระหว่าง บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ 2.กลุ่มร่วมค้า อัลสตอม-มารูเบนี (ALSTOM Thailand-Marubeni Corporation)

สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา นั้น กฟผ.ปิดการขายเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิคและราคา (Bidding Documents) ไปแล้ว โดยมีผู้สนใจมาซื้อซองในส่วนโรงไฟฟ้า 8-9 ราย ส่วนการก่อสร้างท่าเรือและสายพานลำเลียงถ่านหินมีผู้ซื้อซอง 12 ราย โดยจะเปิดให้ยื่นซองต้นปี 2560