posttoday

"บิ๊กฉัตร”ฝันกลางแดด ตั้งเป้าลดต้นทุนทำนาเหลือ 2.7 พันบาทต่อไร่

27 พฤษภาคม 2559

รมว.เกษตร ตั้งเป้าลดต้นทุนทำนาเหลือ 2.7 พันบาทต่อไร่ จากเดิม 5 พันกว่าบาท ด้านอธิบดีกรมชลฯเตือนชาวนา ภาคกลางอย่าเพิ่งเร่งปลูกข้าว ชี้ปริมาณฝนน้อยมาก

รมว.เกษตร ตั้งเป้าลดต้นทุนทำนาเหลือ 2.7 พันบาทต่อไร่  จากเดิม  5 พันกว่าบาท  ด้านอธิบดีกรมชลฯเตือนชาวนา ภาคกลางอย่าเพิ่งเร่งปลูกข้าว ชี้ปริมาณฝนน้อยมาก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า    กระทรวงเกษตรฯวางเป้าลดต้นทุนการผลิตของการเพาะปลูกข้าวให้อยู่ที่ประมาณ  2,700  บาทต่อไร่ จากเดิมที่ต้นทุนทำนาเฉลี่ย  5,200  บาท โดยจะดำเนินการให้ความรู้เกษตรกรเพื่อลดต้นทุนผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร ทั่วประเทศ882 ศูนย์  และเบื้องต้นรัฐได้จับมือภาคเอกชนในการร่วมันจำหน่ายวัตถุดิบการเกษตรในราคายุติธรรมและมีคุณภาพทั้ง ปุ๋ย สารเคมีเกษตร เมล็ดพันธุ์  และเมื่อมีการเก็บเกี่ยว จะมีการวัดผลของโครงการอีกครั้ง นอกจากนั้นจะได้เร่งรัดส่งเสริมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐจะช่วยเหลือเกษตรกรโดยให้กู้ในอัตราดอเบี้ย  0.1%  เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้เขาระบุว่า เกษตรกรต้องเรียนรู้การปรับระบบการผลิตและเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะกับดินของตนเอง  และดูทิศทางตลาด ความต้องการตลาด และทำสินค้าคุณภาพจะเป็นทางรอดของเกษตรกร เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น เกษตรกรต้องเรียนรู้การลดการใช้ปุ๋ย และสารเคมีเกษตร และการปลูกพืชไร้สาร   สำหรับเรื่องการลดค่าเช่าได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการประสานกับเจ้าของที่ดินให้ลดราคาค่าเช่า เพราะเป็นผู้ดูแลกฏหมายค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม

“ล่าสุดประเทศจีน ผู้นำเข้าข้าวต่างขอมาดูขั้นตอนการผลิตข้าวและการส่งออกของไทย  ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่เคยมีมาก่อน   ดังนั้นพี่น้องชาวนาจะบอกว่าเคยทำนามาตลอด ปรับการทำไม่ได้  ก็ต้องบอกว่า วันนี้ต้องเริ่มทำ และต้องเริ่มทำเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม  “ รมว.เกษตรฯกล่าว

 

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าขณะนี้ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคกลางยังน้อยมาก ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีน้ำทำนา ช่วงนี้ขอให้เกษตรกรเตรียมแปลงไว้ก่อนอย่าเพิ่งลงมือปลูกจะเสี่ยงเสียหายได้ให้รอต้นเดือนมิ.ย. จะมีฝนปริมาณมากมากขึ้น  รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้เพียง 1,420 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 1 พันล้านลบ.ม. ซึ่งจะไม่น้ำในการเกษตรแต่ยืนยันน้ำกินน้ำใช้มีพอถึงเดือนก.ค. ไม่ถึงขนาดหมดเกลี้ยงอ่าง โดยยังคงอัตราการระบาย18 ล้านลบ.ม.ต่อวัน  

  ทั้งนี้กรมจะเก็บฝนที่ตกมาทั้งเหมดเพื่อสำรองน้ำไว้ฤดูแล้งหน้า  ฉะนั้นขอให้เกษตรกรปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก    ตั้งเป้าปีนี้ที่จะกักเก็บให้ได้มากที่สุด จากช่วงนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ย. สำหรับเขื่อนสิริกิติส์ 6 พันล้านลูกบาศก์มตร  เขื่อนภูมิพล 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสัก รวม 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะมีน้ำสำหรับทุกกิจกรรมถึงฤดูแล้งปี60

นางปทุม เนื่องภิรมย์ เกษตรกร ต.ลาดบัวหลวง  จ.อยุธยา กล่าวว่า การจะลดต้นทุนเหลือ  2,700 บาทต่อไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องรอดูว่า จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาได้ไปเรียนรู้มาหลายศูนย์ และพยายามที่จะลดต้นทุนแล้วก็คงมีต้นทุนปลูกข้าวที่  4,500  บาทจากเดิมที่จะสูงกว่านี้ เนื่องจากต้นทุนสำคัญมาจากค่าเช่าที่ดิน ที่จะคิดในอัตรา 1,000-2,000 บาทต่อไร่ต่อปี   ขณะเดียวกัน เมื่อเกษตรกรไม่มีน้ำทำนาต้องไปทำช่วงเดือน ก.ค. ก็จะไปบรรจบกับช่วงฝนชุก ทำให้ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวจะเสียหาย หรือมีความชื้นสูง