posttoday

เปิดใจ'จุลศิริ วิรยศิริ'ในวันไร้หอเกียรติภูมิรถไฟ

24 ตุลาคม 2555

กลายเป็นตำนานไปทันที เพราะเมื่อวานนี้ (23 ต.ค. 2555) หอเกียรติภูมิรถไฟ ที่ตั้งอยู่ภายในสวนจตุจักร

กลายเป็นตำนานไปทันที เพราะเมื่อวานนี้ (23 ต.ค. 2555) หอเกียรติภูมิรถไฟ ที่ตั้งอยู่ภายในสวนจตุจักร

ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมรถไฟไทยและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องปิดตัวลง หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนจะนำโครงการดังกล่าวมาดำเนินการเอง

“จุลศิริ วิรยศิริ” ประธานชมรมเรารักรถไฟ เล่าว่า โครงการหอเกียรติภูมิรถไฟเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2532 มาถึงวันนี้ก็ครบรอบ 23 ปีพอดี แต่ก็ถือเป็นวันสุดท้ายแล้ว เพราะหลังจากนี้ไป ร.ฟ.ท.จะนำโครงการดังกล่าวมาพัฒนาเอง โดยอาจจะเปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ

สิ่งที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างชมรมเรารักรถไฟกับ ร.ฟ.ท.นั้นยืดเยื้อมายาวนาน หลังจาก ร.ฟ.ท.มีจดหมายชัดเจนตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ให้หอเกียรติภูมิต้องส่งมอบพื้นที่คืนให้ ร.ฟ.ท. ภายในวันที่ 22 ธ.ค. 2555 เพราะ ร.ฟ.ท.มีโครงการจะทำพิพิธภัณฑ์รถไฟเอง

เปิดใจ\'จุลศิริ วิรยศิริ\'ในวันไร้หอเกียรติภูมิรถไฟ

 

ผนวกกับก่อนหน้านี้มีปัญหาความขัดแย้งว่าการทำหอเกียรติภูมิรถไฟนั้น ห้ามมีรายได้ จะมาขายของ ขายเครื่องดื่มภายในบริเวณหอเกียรติภูมิไม่ได้ถือเป็นความผิด

จุลศิริ บอกว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.จะมาเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ว่าจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จาก ร.ฟ.ท.ว่าจะนำโครงการดังกล่าวไปทำพิพิธภัณฑ์รถไฟต่อหรือไม่

“ในช่วงที่มีปัญหาหนัก เมื่อ 5 เดือนก่อน หอเกียรติภูมิรถไฟได้ปิดไประยะหนึ่ง และก็คิดว่าในช่วงที่ปิดไป ร.ฟ.ท.จะเข้ามาดูแล แต่ก็ไม่มีไร้คนดูแล อย่างที่เคยสัญญาไว้ก่อนหน้า”

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาไม่ได้ข้อสรุป ชมรมฯ คงไม่อยู่ที่นี่ต่อไป แต่จะขอของทั้งหมดที่เป็นของชมรมฯ ไปตั้งที่อื่น ซึ่งมองไว้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยจะทำงานร่วมกับคุณโดม สุขวงศ์ และคุณปราจิณ เอี่ยมลำเนา และจะเริ่มขนของทั้งหมดออก เนื่องจากกำหนดที่จะอยู่ได้เป็นวันสุดท้าย คือ วันที่ 22 ธ.ค. 2555

ที่ผ่านมาการดูแลหอเกียรติภูมิแห่งนี้ ต้องใช้งบประมาณของตัวเองและจากที่ได้รับการบริจาค การอนุเคราะห์ รวมกันปีละ 1 ล้านบาท ในขณะที่ตู้บริจาคก่อนหน้านี้ วันเสาร์อาทิตย์ เคยได้เงินวันละเกือบ 1,000 บาท แต่ 45 ปี มานี้บางวันได้เพียง 20 บาทเท่านั้น เนื่องจากการเข้ามาชมเป็นการชมฟรี

“ผมไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงอะไรจากหอเกียรติภูมิรถไฟ แถมต้องหาเงินมาบำรุงรักษาเองด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผมต้องการก็คือ ส่งเสียงให้คนมาดูว่าที่นี่มีอะไรอยู่แล้วเมื่อพวกเราไม่อยู่ สภาพของที่นี่จะเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้า ร.ฟ.ท.ก็ทิ้งหัวรถจักร โบกี้ รถไฟเหล่านี้ไว้ไม่เคยมีการดูแล จนพวกผมเข้ามาเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เพราะคุณพ่อสรรพสิริ วิรยศิริ เคยสั่งไว้ให้ต่อสู้ เพื่อให้มีการตั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟให้ได้ตามที่คุณปู่ คือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายท่านเป็นเจ้ากรมที่ดิน ซึ่งปู่ก็สั่งให้ทำพิพิธภัณฑ์รถไฟให้ได้ เพราะรัชกาลที่ 5 ท่านรักรถไฟ อิฐทุกก้อน ไม้หมอนทุกชิ้น หรือรางรถไฟ คือ สิ่งที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระราชทาน นำความเจริญมาสู่ประเทศไทย คุณพ่อซึ่งเคยเป็นบอร์ดการรถไฟมาก่อน ท่านจึงขอใช้พื้นที่นี้ทำหอเกียรติภูมิรถไฟ ซึ่งต้องสานต่อ”

ที่ผ่านมาเห็นมาตลอดว่า ร.ฟ.ท.ไม่ค่อยสนใจที่จะเก็บรักษาหัวรถจักร ทั้งที่บางคันเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์และมีคันเดียวในโลก เช่น รถไฟพยาบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างขึ้น เพราะเห็นว่าสมัยในถิ่นทุรกันดารนั้นไม่มีโรงพยาบาล มีแต่โรงพยาบาลศิริราช จึงให้สร้างรถไฟพยาบาลที่ทำจากไม้สักทองทั้งหลังจำนวน 22 ตู้ โดยสั่งแชสซี มาจากอังกฤษใช้วิ่งไปในพื้นที่ต่างๆ แต่ตอนนี้เหลือ 2 โบกี้เท่านั้น

รวมทั้งหัวรถจักรไอน้ำ ที่ ร.ฟ.ท.ปล่อยทิ้งให้ตากแดดตากฝน ลากไปทิ้งข้างนอกก็กลายเป็นสุสานรถไฟ ร.ฟ.ท. ไม่เคยแสดงท่าทีที่จะอนุรักษ์หรือรักษาหัวรถจักรเก่า เช่น หัวรถจักรชื่อ สูงเนิน ที่ตั้งอยู่ที่นี่ เป็นหัวรถจักรไอน้ำ

ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ติดมากับโบกี้รถไฟ หรือหัวรถจักรไอน้ำ เหล่านี้มันประเมินค่าไม่ได้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เคยรับสั่งไว้ประเทศไหนจะเจริญหรือไม่ให้ดูที่การรถไฟประเทศนั้นแล้วดูซิว่าการรถไฟไทยเป็นอย่างไร

ดังนั้น สิ่งที่ชมรมฯ เรียกร้องคือ เมื่อชมรมฯ ไม่อยู่ต้องการเห็น ร.ฟ.ท.แสดงให้ชัดว่าจะดูแลอย่างไร ซึ่งหากเป็นพิพิธภัณฑ์ก็จะมีระเบียบ กฎในการบำรุงรักษา ซึ่งก็วางใจและเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต