posttoday

รมว.อุตฯไฟเขียวจีนสำรวจโปแตช

19 มกราคม 2558

จักรมณฑ์เซ็นต์อาชญาบัตรให้จีนสำรวจโปแตชเพิ่ม 2 ราย คาดศักยภาพกว่า 130 ล้านตัน

จักรมณฑ์เซ็นต์อาชญาบัตรให้จีนสำรวจโปแตชเพิ่ม 2 ราย คาดศักยภาพกว่า 130 ล้านตัน

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ นายส้าง หงหลิน อธิบดีกรมธรณีวิทยาทางเคมีและการเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าหารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย ว่า เบื้องต้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้อนุมัติการออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่โปแตชระยะเวลา 5 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการชาวจีน 2 ราย ได้แก่ บริษัท โรงปังไมนิ่ง จำกัด บริเวรสำรวจที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จำนวน 4 แปลง พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ คาดว่ามีศักยภาพแร่ประมาณ 30 ล้านตัน และบริษัท ไชน่าหมิงต๋าโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง พื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ โดยคาดว่ามีศักยภาพถึง 100 ล้านตัน

ส่วนความกังวลว่าจะเกิดปัญหาชุมชนหรือไม่ จากการหารือกับทั้ง 2 บริษัท ได้รับการยืนยันว่ามีการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับชุมชนรอบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงพื้นที่และพาตัวแทนชาวบ้านไปดูขั้นตอนการทำเหมืองโปแตชในประเทศจีนด้วยเช่นกัน ประกอบกับขั้นตอนการสำรวจนั้นไม่น่ากังวลเพราะใช้พื้นที่น้อยสำรวจต่อหลุ่มประมาณ 4 นิ้วเท่านั้น และหากพบแร่และขอประทานบัตรก็ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(อีเอชไอเอ)เพื่อตรวจสอบและดูแลชุมชนอย่างเข้มข้นตามกฎหมาย

“ได้ลงนามออกใบอนุญาตอาชญาบัตรให้กับ 2 บริษัท เพราะยื่นเรื่องตามขั้นตอนมานานเป็น 10 ปี ระยะเวลาสำรวจ 5 ปี ส่วนจะเจอแร่โปแตชหรือไม่ต้องอยู่ที่ผลการสำรวจ แต่มั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่โปแตช หากมีการลงทุนผลิตขึ้นมาใช้เองจะช่วยลดการนำเข้าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 200 ล้านล้านบาท จากปริมาณสำรวจคาดว่าน่าจะมีศักยภาพ 7.04 ล้านตัน”นายจักรมณฑ์ กล่าว

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังคาดว่าประมาณ 3-4 เดือน ข้างหน้าเตรียมออกประทานบัตรให้ผู้ประกอบการที่เคยขออาชญาบัตรก่อนหน้านี้ ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ และ บริษัทไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทได้รับอาชญาบัตรและพบแร่จึงตัดสินใจลงทุน ดังนั้นก็จะเร่งดำเนินการอนุญาตเพื่อให้การลงทุนเกิดขึ้นจริง

ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 นั้น คาดว่าภายในเดือน ก.พ.นี้จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นคาดว่าจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในครึ่งปีแรก ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ จะมีการเพิ่มมาตรฐานการรักษาสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมตัดสินใจ และเพิ่มสัดส่วนผลประโยชน์ให้กับชุมชนรอบเหมืองมากยิ่งขึ้น