posttoday

กัญชาสร้างเศรษฐกิจ สกัดทำยา ทำรายได้แสนล้าน

20 มกราคม 2561

การใช้พืชกัญชาในประเทศไทยนั้นจะช่วยทำให้ลดการนำเข้ายาเคมีได้หลายอย่าง คาดว่าจะช่วยประหยัดเงินต่อปีได้นับหมื่นล้านบาท หรืออาจอยู่ในหลักพันล้านบาทในช่วงระยะเริ่มต้นที่นำกัญชามาสกัด

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลังจากมีข่าวฮือฮาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าพบเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และมีข้อสรุปให้เลือกพื้นที่ทหารใน จ.สกลนคร 5,000 ไร่ เป็นแหล่งนำร่องปลูกกัญชาแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่ายังไม่สามารถทำได้ เพราะต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวงก่อน ขณะที่ วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ กลับเห็นด้วยเพราะเป็นพืชสมุนไพรสามารถสกัดมาใช้ทำยาได้ แต่ต้องศึกษาให้ดี ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้ต้องศึกษาให้รอบคอบเพราะคนไทยยังรับไม่ได้

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เล่าถึงที่มานี้ว่า ปัจจุบันได้เตรียมนำร่องพื้นที่ 5,000 ไร่ ใน จ.สกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตราชพัสดุ เขตควบคุมของทหาร เพื่อปลูกพืชอย่างกัญชา หลังคณะทำงานมีความเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นต้นน้ำแม่น้ำสงคราม เทือกเขาภูพานเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุด โดยในอดีตได้พูดถึงหลายครั้ง จึงจะใช้พื้นที่ จ.สกลนคร นำร่องส่งเสริมการปลูกพืชกัญชา จะทำให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพสูงได้ปริมาณตัวยาเข้มข้น

“การปลูกกัญชาในเขตทหารจะทำให้ควบคุมได้ง่าย มีพื้นที่กว้างขวางจำนวนมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่สามารถนำมาเพาะปลูกกัญชาเป็นการนำร่องได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมอย่างใกล้ชิด ป้องกันการหลุดรอดของกัญชาหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์”

ประธานสภาเกษตรกรฯ บอกอีกว่า ในพื้นที่ จ.สกลนคร ถือว่ามีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกว่าที่อื่น แต่ทั้งหมดจะต้องมีการพูดคุยให้ชัดเจนก่อนว่าจะมีการปฏิบัติอย่างไร ในเดือน ก.พ. จะเดินทางไปสกลนครเพื่อพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง

ขณะเดียวกันข้อกังวลการนำร่องปลูกกัญชาในพื้นที่จะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ประพัฒน์ ยืนยันว่า ชาวบ้านในพื้นที่อยากปลูกกันมาก เพราะชาวบ้านเบื่อการปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ปลูกอ้อย สร้างแต่หนี้สินจึงต้องการหาพืชใหม่ๆ มาปลูกทดแทน ที่สำคัญเศรษฐกิจจะไหลกลับไปสู่ชนบทได้เพิ่มมากขึ้น ประเทศชาติจะได้มีพืชทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

“ภาคอีสานมีพืชปลูกอยู่ไม่กี่ชนิดเอง เราควรจะหาพืชใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาเล่น และมีเศรษฐกิจดี พืชกัญชาถือว่าเหมาะแก่การนำมาปลูกสร้างประโยชน์ให้มหาศาล เชื่อว่ากัญชาจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้นับแสนล้านบาทเข้าสู่ประเทศ ที่มาจากการผลิตเพื่อขายออกสู่ต่างประเทศ เพราะมันคือยารักษาโรค เช่น สารสกัดจากกัญชาต่างประเทศก็สามารถนำส่งขายได้กำไรนับแสนล้านบาทแล้ว เพราะพืชกัญชาถือว่ามีสรรพคุณหลากหลายกว่าเคมีบำบัด”

ประพัฒน์ เล่าต่อไปว่า การใช้พืชกัญชาในประเทศไทยนั้นจะช่วยทำให้ลดการนำเข้ายาเคมีได้หลายอย่าง คาดว่าจะช่วยประหยัดเงินต่อปีได้นับหมื่นล้านบาท หรืออาจอยู่ในหลักพันล้านบาทในช่วงระยะเริ่มต้นที่นำกัญชามาสกัด

“ถือเป็นโอกาสขนาดใหญ่ที่ประเทศไทยจะมีพืชกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจแบบใหม่ ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อนาคตอาจนำร่องปลูกพื้นที่ต่างๆ ด้วย แต่ยังกังวลว่าประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ หรือมองว่าเราบิดเบือนสิ่งดีๆ เสียไป ที่สำคัญเกรงว่าการตรวจสอบควบคุมพืชกัญชายังไม่ดีพอ จึงต้องการนำร่องปลูกเพียงพื้นที่เดียวก่อนดีกว่า”

นอกจากนี้ การปลูกกัญชาจะมีการประเมินผลเพาะปลูกทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ในรูปแบบคณะกรรมการ หากผลผลิตดี เกษตรกรมีรายได้ เกิดประโยชน์ และไม่เล็ดลอดออกมาสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ฝ่ายความมั่นคงเกิดความสบายใจ จึงจะสามารถขยายการเพาะปลูกกัญชาได้ทั่วประเทศ

ประธานสภาเกษตรกรฯ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้ามาปลูกกัญชาในพื้นที่นำร่องว่า อย่างแรกยืนยันก่อนว่าการปลูกกัญชาครั้งนี้ไม่ใช่การอนุญาตให้ปลูกกัญชาอย่างเสรีเหมือนในต่างประเทศ แต่เป็นการปลูกกัญชาภายใต้การควบคุมเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมนำหรือรับซื้อกัญชาเหล่านี้ไปสกัดเป็นยาเพื่อใช้ในทางการแพทย์เชิงพาณิชย์เท่านั้น

“ไม่ต้องกังวลเรื่องว่าจะให้พืชกัญชาเป็นค้าแบบเสรี ไม่เห็นด้วยแน่นอน แต่เห็นด้วยที่จะปลูกในพื้นที่ควบคุมเพื่อทางการแพทย์ ส่วนตามร้านขายยาผู้ซื้อจะซื้อได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งแพทย์อย่างถูกต้องชัดเจน ทางแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายให้ใช้เท่านั้น” ประพัฒน์ ทิ้งท้าย

ในอนาคตอันใกล้เราอาจเห็นผืนดินในประเทศไทยบางส่วนปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขีดเส้นใต้ย้ำ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุม ไม่ใช่ให้มีการค้าการปลูกกัญชาอย่างเสรีเหมือนในต่างประเทศ