posttoday

ต้องมี"ตูน บอดี้สแลม"วิ่งอีกกี่คน? เงินถึงจะพอช่วยรพ.ทุรกันดารทั่วประเทศ

02 พฤศจิกายน 2560

หากรัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้ “ตูน บอดี้สแลม”ทำงานหนักน้อยลงและตรงเป้าหมายขึ้น

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ปรากฏการณ์ นักร้องชื่อดังอย่าง “ตูน บอดี้สแลม” อาทิวราห์ คงมาลัย หนุ่มร็อกเกอร์ชื่อดัง ที่ปลุกกระแสลุกขึ้นมาสวมร้องเท้าผ้าใบวิ่งระดมทุนหาเงินบริจาคเริ่มโครงการ "ก้าวคนละก้าว" วิ่งจากใต้สุดแดนสยาม ที่ อ.เบตง จ.ยะลา สู่ภาคเหนือสูงสุดของประเทศไทย ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 2,191กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเกือบ 2 เดือน เป้าหมาย 700 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหาซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลจำนวน 11 แห่งอีกครั้ง ในพื้นที่ทุรกันดาร จนเกิดคำถามขึ้นสารพัดทำไมต้องออกวิ่งหาเงินให้กับโรงพยาบาล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้  สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.ยะลา ความเห็นว่า ต้องขอบคุณและชื่นชม”ตูน บอดี้สแลม”ที่ลุกขึ้นมาวิ่งระดมทุนบริจาคเงินเพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลถิ่นทุรกันดาร 11 แห่ง ซึ่งความจริงคนไทยพร้อมบริจาคเงินเพียงแต่ต้องการคนที่ประชาชนเชื่อมั่นและเชื่อถือจะมาเป็นตัวหลักระดมทุน

“ต้องยอมรับงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมีน้อย เพราะว่ารัฐบาลจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขน้อย เนื่องจากเห็นว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นภาระของประเทศ เป็นวิธีคิดที่แย่มาก ขณะเดียวกันเวลาเพิ่มงบประมาณในแต่ละปีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ต้องมี"ตูน บอดี้สแลม"วิ่งอีกกี่คน? เงินถึงจะพอช่วยรพ.ทุรกันดารทั่วประเทศ

สุภัทร ยอมรับว่า เรื่องงบประมาณความจริงแล้วขาดแคลนทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน หากถามว่าทุกโรงพยาบาลอยากได้งบประมาณและเงินบริจาคหรือไม่ แน่นอนว่าโรงพยาบาลทุกแห่งอยากได้งบประมาณเพื่อมาบริหารจัดการ

 

ทว่า แต่ไม่ใช่หน้าที่ของ “ตูน บอดี้สแลม” ที่ต้องมาวิ่งระดมทุนหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาล 700กว่าแห่งทั่วประเทศ กลับกันมันคือหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล ในใจลึกๆหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหันมาให้ความสนใจเรื่องอุปกรณ์ทางแพทย์และการจัดการในโรงพยาบาล” หมอสุภัทร คาดหวัง

สุภัทร ยังมองปรากฏการณ์วิ่งครั้งนี้ด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าการวิ่งของ “ตูน บอดี้สแลม” คงไม่เกิดผลในระยะยาวเท่าไหร่ เพราะคนบริจาคเงินเพราะ ”ตูน บอดี้สแลม”วิ่ง  ไม่อาจทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจมาบริจาคแบบต่อเนื่องให้กับโรงพยาบาล แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดคุณูปการกับกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลจะรู้สึกหรือไม่ว่านั่นคือหน้าที่รัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของ “ตูน บอดี้สแลม”ที่ต้องมาวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาล

หวังว่าอย่างน้อยการลุกขึ้นมาวิ่งครั้งนี้ทำให้เห็นว่ามีคนดีๆมีชื่อเสียงมาช่วย และมองเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพ เพราะปกติไม่ค่อยมีส่วนใหญ่จะทำบุญบริจาควัด โรงเรียน และโรงพยาบาลขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับ เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยหารโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ว่า ต้องมี “ตูน บอดี้สแลม” อีกกี่คนถึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นตลอด และสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ก็เพิ่มมากขึ้น หากมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าไปดูแลจะเกิดประโยชน์มาก แต่ต้องสอดคล้องกับทิศทางการกระจายทรัพยากรของรัฐบาลโดยหลัก

ต้องมี"ตูน บอดี้สแลม"วิ่งอีกกี่คน? เงินถึงจะพอช่วยรพ.ทุรกันดารทั่วประเทศ

หากรัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้ “ตูน บอดี้สแลม”ทำงานหนักน้อยลงและตรงเป้าหมายขึ้น ในสิ่งที่ตูนทำเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นมาให้เห็น หวังกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจช่วยกันทำให้ระบบบริการทางการแพทย์เข้าถึงได้มากขึ้น

 

เกรียงศักดิ์ ปรารภอีกว่า สำหรับการขาดแคลนงบประมาณนั้น ยอมรับว่าขาดแคลนทั้งหมด เพียงแต่มากน้อยเฉลี่ยกันไป ถ้ามองโดยรวมต้องยอมรับว่าในพื้นที่ชนบทหรือโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ขาดแคลนมากกว่า  เพราะว่าในช่วง 10 ปีหลัง รัฐบาลลงทุนกับโรงพยาบาลขนาดเล็กน้อยมาก ตัวอย่าง จากที่ตูนวิ่งระดมทุนเงินให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั่นเป็นเพียงโรงพยาบาล 1 ใน 700 แห่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามีทรัพยากรน้อย

“ถ้าเราไม่ไปลงทุนในโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลขนาดใหญ่โตยังไงก็ไม่เพียงพอกับบริการ เพราะประชาชนเข้าไปใช้บริการแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่หมด แต่ถ้าเราดักพัฒนาตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กให้เจริญเพียงพอ เทียบเท่าโรงพยาบาลใหญ่ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลจังหวัด หนำซ้ำยังลดค่าใช้จ่ายเดินทางของผู้ใช้บริการอีกด้วย”

ประธานชมรมแพทย์ชนบท  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลายปีการลงทุนในโรงพยาบาลขนาดเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบงบประมาณไปลงทุนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากกว่า พอโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้นยังไงก็ไม่เพียงพอกับบริการ เพราะเราไม่ลงทุนพัฒนาโรงพยาบาลขนาดเล็กประชาชนจึงแห่เข้ามาใช้บริการแต่โรงพยาบาลใหญ่ๆหมด

“หากเราพัฒนาโรงพยาบาลระดับล่างแล้วจะสามารถกำหนดได้ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ควรพัฒนาไปอย่างไรเท่าไหร่ เพราะเราไม่เห็นสัดส่วนที่เหมาะสม”

ต้องมี"ตูน บอดี้สแลม"วิ่งอีกกี่คน? เงินถึงจะพอช่วยรพ.ทุรกันดารทั่วประเทศ

นอกจากนี้ปรากฏการณ์วิ่งคราวนี้ เกรียงศักดิ์ ให้ทัศนะว่า ถือเป็นตัวกระตุ้นทำให้รัฐบาลเห็นว่าจริงแล้วควรกลับมามองหรือรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า สิ่งที่ “ตูนบอดี้สแลม” วิ่งกำลังสะท้อนอะไร ซึ่งก็สะท้อนเรื่องงบประมาณการบริหารจัดการ

 

“ถ้าถามว่า 700 ล้านบาทที่วิ่งระดมทุนทำอะไรได้มากหรือไม่ ก็อาจไม่มากหากเทียบกับงบประมาณ แต่ก็ดีกว่าไม่มีเงินตรงนี้มาสนับสนุน กลับกันอย่างรพ.บางสะพาน ที่ได้รับเงินบริจาคจากตูนคราวก่อน 80 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จมาก รพ.เกิดการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ใช้ประโยชน์จากเงินได้เต็มที่ และรพ.บางสะพานจะโดนลดงบประมาณไปหรือไม่ เพราะได้รับเงินบริจาค อันนี้ก็เป็นคำถาม”

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลมีทิศทางถูกต้องบริหารจัดการในอีก 10 ปี  20 ปี ข้างหน้า โรงพยาบาลต่างๆควรจะอยู่ในสเตตัสแบบใด เช่นโรงพยาบาลขนาดนี้ต้องมีกี่เตียง รองรับผู้ป่วยได้เท่าไหร่ การดูแลเครือข่ายให้สมบูรณ์แบบไหน ถ้ามองไม่ออกว่าการลงทุนพัฒนาจากโรงพยาบาลขนาดเล็กก่อน ยังไงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้มีจำนวนมากเท่าใดก็ไม่เพียงพอ เพราะสุดท้ายชาวบ้านก็เข้ามาใช้โรงพยาบาลขนาดใหญ่หมดเหมือนเดิม

การวิ่งในครั้งนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า เป็นการกระตุกภาครัฐให้หันมาสนใจและต้องตะขิดตะขวงใจบ้างว่าสิ่งที่ตูนทำ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการของภาครัฐยังไม่ดีพอ จนทำให้“ตูน บอดี้สแลม” ต้องออกมาวิ่งระดมทุนอีกครั้ง

ต้องมี"ตูน บอดี้สแลม"วิ่งอีกกี่คน? เงินถึงจะพอช่วยรพ.ทุรกันดารทั่วประเทศ