posttoday

มหากาพย์ "เรือดำน้ำ" ความพยายามที่ยังไม่สิ้นสุด

13 มีนาคม 2560

เอาจริงแน่กับการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” รอบนี้ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เชี่ยวกราก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เอาจริงแน่กับการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” รอบนี้ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เชี่ยวกราก ​

สัญญาณชัดเจนเมื่อ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม  นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.  พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช

พื้นที่ 40.78 ไร่ ในอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้  สำหรับสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำขนาด 50x100x25 เมตร รองรับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T จากสาธารณรัฐประชาชนจีนในอนาคต

พร้อมสัญญาณจาก พล.อ.ประวิตร ที่ออกมายืนยันชัดเจนว่างบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำรอบนี้อยู่ใน​​ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่จะเสนอ ครม.เมื่อไหร่เท่านั้น เวลานี้อยู่ในขั้นตอนประสานงานกับประเทศที่เราจะซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

สอดรับกับ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร.​ (สมัยนั้น) ออกมาชี้แจงว่าจากผลการศึกษากองทัพเรือมีมติเป็นเอกฉันท์ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนจำนวน 3 ลำ โดยใช้งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

ในอดีตที่ผ่านมากองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำมาประจำการรบมาแล้ว  4 ลำ ที่สั่งซื้อจากญี่ปุ่นเข้าประจำการกองทัพเรือไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งปลดระวางประจำการในปี 2494

แม้จะว่างเว้นการมีเรือดำน้ำประจำการมา 66 ปี แต่ไม่เคยว่างเว้นจาก​ความพยายามจัดซื้อเรือดำน้ำที่มีการ​ผลักดันอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายรัฐบาล ​ แต่สุดท้ายด้วยเสียงคัดค้านและข้อท้วงติงถึงความคุ้มค่าในภาวะที่บ้านเมืองกำลังถังแตก ทำให้โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมีอันต้องสะดุดไปหลายยก ​

​ชัดเจนที่สุด​คือช่วง ปี 2553 ​ ​สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมี พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม   โดย  พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร.ขณะนั้น ได้ผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำรอบใหม่ในวงเงินงบประมาณ 7,500 ล้านบาท

ครั้งนั้นคณะทำงานได้ข้อสรุปลงตัวที่การจัดซื้อเรือดำน้ำมือสอง รุ่น  Klasse 206A (U 206A) ของเยอรมนี 6 ลำ ที่ปลดประจำการไปแล้ว ​โดย​แบ่งเป็นเรือที่ใช้งานได้ 4 ลำ และเรือ​อีก 2 ลำ ที่จะนำมาเป็นอะไหล่

แต่ความพยายามรอบนี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อมีข่าวว่าถูกมือที่มองไม่เห็นสั่งเบรกไว้ ด้วยเหตุผล​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าอย่างรุนแรง จนเกรงว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งกำลังง่อนแง่นอย่างหนัก

อีกด้านหนึ่งมีกระแสข่าวว่า​เกิดความไม่ลงตัวภายในกองทัพกับสภากลาโหม ที่ยังมีความเห็นต่าง เมื่อมีบางฝ่าย​ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี แต่ต้องการผลักดันเรือเรือดำน้ำ U209  มือหนึ่งจากประเทศเกาหลีใต้​ 2 ลำ ในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทเศษ

​ทำให้แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำรอบนี้เงียบหายไป ก่อนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมขณะนั้น เดินสายตรวจเยี่ยม​กองทัพเรืออย่างเป็นทางการ และส่งสัญญาณเห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี

สุดท้ายเหมือนเรื่องจะถูกแช่แข็งจนครบกำหนดเลยเส้นตายวันที่ 29 ก.พ. 2555 ที่ทางเยอรมนีกำหนดต้องการคำตอบว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ถือเป็นการปิดฉากการจัดซื้อเรือดำน้ำรอบนั้น

แต่ความพยายามจัดซื้อเรือดำน้ำยังไม่จบ หลังรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่มี พล.อ.ประวิตร วนกลับมาเป็น ​รมว.กลาโหม อีกครั้ง

แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจึงถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่อีกรอบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 17 คน ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. เป็นประธาน เดินทางไปศึกษาดูเรือดำน้ำที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนี และสวีเดน และมีมติเอกฉันท์เลือกเรือดำน้ำจากจีน

อยู่ที่ว่านับจากนี้จะมีเหตุให้แผนจัดซื้อเรือดำน้ำต้องสะดุดหรือไม่