posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น กลางปี61 เช็กกระแสครั้งสุดท้าย

15 มกราคม 2561

ด้านหนึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นยังสามารถเช็กกระแสการเมืองระดับชาติได้กลายๆ แม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็พอจะมองเห็นความเข้มแข็งของฐานเสียงในพื้นที่แต่ละกลุ่มได้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นนับถอยหลังสู่ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ตามโรดแมปจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้

ชัดเจนตาม “สัญญาณ” จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เห็นควรให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าเป็นการเช็กความพร้อมและวัดกระแสทิศทางลมในแต่ละพื้นที่

สาเหตุสำคัญเพราะเดือน พ.ค. 2561 สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะหมดวาระครบทุกระดับทั่วประเทศ ขณะที่ปัจจุบันในตำแหน่งต่างๆ กว่า 80% หมดวาระไปเรียบร้อยอยู่ระหว่างปฏิบัติรักษาการตามคำสั่ง คสช. ดังนั้นจึงถือเป็นเวลาเหมาะสมที่ควรจะเปิดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

ตามข้อเสนอของสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เห็นว่าควรจะเปิดให้เลือกตั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นลำดับแรก จากนั้นค่อยเปิดให้เลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ต่อไป 

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นกลางปีนี้ คสช.จะจัดการเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ไปพร้อมกันหรือไม่ แต่ในส่วนของ อบจ. อบต. นั้นมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ 

โดยเฉพาะกระบวนการทางกฎหมาย ที่เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากำลังจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ หลังจาก กกต.มีความเห็นให้แก้ไขเพิ่มเติม 30-40 ประเด็น

ขั้นตอนจากนี้เหลือเพียงนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 6 ฉบับพร้อมกันเพื่อให้เห็นภาพรวม ซึ่งส่วนสำคัญของการแก้ไขอยู่ที่ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่จะต้องปรับให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนส่งต่อให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

เรื่องกฎหมายจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาหรือสร้างความล่าช้า เมื่อพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 หากเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ก็คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่มาก เนื่องจาก สนช.ได้มีคณะกรรมการที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว และจะต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นกลางปี 2561

พิจารณาในแง่เวลาการจัดการเลือกตั้งถือว่ามีความเหมาะสมเป็นไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป สอดรับไปกับการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นราวปลายปี 2561

ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นทั้งการปฏิบัติงานเพื่อนำมาเป็นบทเรียนหาจุดอ่อน และอุปสรรคปัญหามาปรับแก้ในการเลือกตั้งสนามใหญ่ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น

ยิ่งในสภาพที่บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงสุญญากาศมานาน คำสั่ง คสช.ทำให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักเคลื่อนไหว ไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองมาร่วม 4 ปี การกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งอาจเกิดความขลุกขลัก

ที่สำคัญจนถึงเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คสช.จะพิจารณาปลดล็อกคำสั่งให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ หรือเมื่อไหร่ ทำให้ยังยากจะประเมินสถานการณ์ในอนาคต

นอกจากจะสร้างอุปสรรคปัญหาให้กับผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ที่ร้างสนามไปนานแล้ว

อีกด้านหนึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นยังเป็นการเคาะสนิมให้กับบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง ไล่มาตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งน่าจะเป็นชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือก ที่จะมาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะถือเป็นผลงานแรกสำหรับ กกต.ชุดนี้ 

ส่วนกลไกเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งส่วนเดิมหรือส่วนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทำให้ต้องกลับมาวางระบบการทำงานกันใหม่

ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง การควบคุมการดูแลการหาเสียงให้เป็นไปตามกรอบกติกา รวมทั้งการเฝ้าติดตามหาข้อมูลการกระทำผิดซื้อสิทธิขายเสียงที่มีโทษรุนแรง ซึ่งจะทำให้ผู้จัดการเลือกตั้งเห็นทิศทาง และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขในช่องโหว่ ป้องกันปัญหาต่อไปในสนามใหญ่

ที่สำคัญคือการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางทางการเมืองที่อาจจะเป็นตัวแปรนำไปสู่การพิจารณาเดินหน้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งมีกระแสดักคอว่าพบสัญญาณการยื้อเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ด้านหนึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นยังสามารถเช็กกระแสการเมืองระดับชาติได้กลายๆ แม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็พอจะมองเห็นความเข้มแข็งของฐานเสียงในพื้นที่แต่ละกลุ่มได้

อีกด้านหนึ่งยังจะสามารถสะท้อนความร้อนแรงดุเดือดในสนามเลือกตั้ง ว่ามีเหตุป่วน เหตุวุ่นวายใดๆ หรือไม่ อันจะสะท้อนอนาคตไปถึงบรรยากาศการเลือกตั้งสนามใหญ่ได้ไม่มากก็น้อย

การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีนัยและส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจถึงขั้นเป็น “ปัจจัย” ที่จะชี้ขาดว่าการเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปหรือไม่