posttoday

ยื้อปลดล็อกการเมือง หยั่งกระแสล้มเลือกตั้ง

05 ธันวาคม 2560

สัญญาณที่ส่งออกมาเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นประการหนึ่งรัฐบาลมองว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบมากนัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การกดดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ กำลังกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ภายหลังเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ใกล้จะสิ้นสุดลงไปทุกที

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยรับปากผ่านสาธารณะว่าภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลดเงื่อนไขทางการเมืองบางประการ

แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 1 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี ปรากฏว่ารัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด โดยอ้างถึงความจำเป็นว่าเรื่องของพรรคการเมืองยังไม่มีความจำเป็นในเวลานี้ เพราะรัฐบาลต้องการดำเนินการเรื่องอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า

ยิ่งเวลาผ่านไป พรรคการเมืองก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการปรับปรุงพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ภายใต้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้น พรรคการเมืองจะสิ้นสภาพตามกฎหมายได้

โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 141 ของกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดภารกิจเร่งด่วนที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการแต่งตัวเองใหม่ไว้ 7 ประการ ดังนี้

1.แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

2.พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้และยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

3.จัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

4.จัดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

5.จัดให้สมาชิกชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

6.จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

7.จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

เงื่อนไขของกฎหมายพรรคการเมืองมีทั้งกรณีที่กำหนดให้ดำเนินการ 90 วัน และ 180 วัน ซึ่งในกรณีของ 90 วันจะครบในวันที่ 5 ม.ค. 2561 แม้กฎหมายจะกำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมือง คือ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถใช้อำนาจพิจารณาให้ขยายเวลาเพิ่มเติมได้ แต่อย่าลืมว่าเวลานี้ กกต.ปัจจุบันเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง ดังนั้นในบางกรณี กกต.ปัจจุบันอาจไม่กล้าดำเนินการ

จากเงื่อนเวลาทางกฎหมายที่ไล่ตามหลังพรรคการเมืองอย่างกระชั้นชิด ส่งผลให้ต้องออกมากดดันอีกรอบ เพราะพรรคการเมืองมองเห็นแล้วว่าภารกิจทั้ง 7 ด้านไม่มีทางดำเนินการได้เลย หากไม่มีการประชุมพรรคการเมือง ซึ่งในเวลานี้พรรคการเมืองก็ไม่อาจประชุมได้ เพราะติดตรงที่ คสช.ยังไม่ยอมไขกุญแจปลดล็อก

“การปลดล็อกพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำตามกฎหมายพรรคการเมืองที่กลุ่มพวกท่านตราขึ้น อย่าทำให้การบริหารประเทศและการปฏิบัติตามกฎหมายกลายเป็นเรื่องอำเภอใจของพวกท่านที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้เลยเพราะจะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในระบบของประเทศยิ่งแย่หนักขึ้นไปกว่าเดิม” การออกมากระทุ้งของ “ภูมิธรรม เวชยชัย”  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

แต่ที่ผ่านมาผู้นำรัฐบาลหลายคน โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พิงเชือกและเด้งออกมาด้วยการอ้างถึงการไม่ยอมปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองว่า “ด้านการข่าวแจ้งว่ามีกลุ่มคนเริ่มเคลื่อนไหว ถ้าหากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่คงปลดล็อกการเมืองยาก แต่ถ้าไม่ปลดล็อกการเมืองก็ไม่ได้ ต่อจากนี้หน่วยงานความมั่นคงต้องทำงานกันหนักขึ้น ซึ่งอาจจะต้องปลดล็อกการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง”

การอ้างเหตุผลถึงการยื้อปลดล็อกพรรคการเมืองครั้งล่าสุดของรัฐบาลเป็นการหยิบเอาเรื่องความไม่สงบมาเป็นหนึ่งในเงื่อนไข ซึ่งการทำเช่นนี้ย่อมถูกมองได้ว่าเป็นการโยนหินถามทางเพื่อขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

สัญญาณที่ส่งออกมาเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นประการหนึ่งรัฐบาลมองว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบมากนัก

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความนิยมทางการเมืองของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล โดยรัฐบาลอาจมองว่าหากตัวเองลงจากอำนาจในเวลานี้ โอกาสที่จะกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านช่องทางพิเศษก็เป็นไปได้ยากและไม่ได้เสียงปรบมือเหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ดังนั้น การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนจากกำหนดการเดิมในปลายปี 2561 อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาล ส่วนประชาชนจะยินดีต่อการอยู่ในอำนาจต่อไปของ คสช.หรือไม่ ค่อยไปว่ากันในหน้างาน