posttoday

ส่องร่างกฎหมายลูก พรบ.เลือกตั้ง-พรรคการเมือง

23 กันยายน 2559

เป็นอันเรียบร้อยสำหรับร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นอันเรียบร้อยสำหรับร่าง  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ดำเนินการจัดทำส่งให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกอบการพิจารณาในการเขียนกฎหมายลูก ให้เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งตามโรดแมปในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ซึ่งหากมาดูสาระสำคัญและเป็นประเด็นให้ต้องจับตาต่อกฎหมาย 2 ฉบับ

เริ่มด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ กกต.จัดทำให้กับ กรธ.เพื่อป้องกันนายทุนเข้าครอบงำพรรคการเมือง และให้เกิดความยึดโยงกับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ซึ่งหมวด 2 การดำเนินกิจการ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการกำหนดนโยบายเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง

ส่วนที่ 2 มาตรา 44 กรณีจังหวัดใดที่มีสาขาพรรคการเมืองตั้งอยู่ให้ที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองพิจารณาเสนอนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา และรายชื่อสมาชิกในจังหวัดนั้นเป็นผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ โดยการเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

มาตรา 46 กรณีจังหวัดใดที่มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป แต่ไม่มีสาขาพรรคการเมืองตั้งอยู่ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดมอบหมายให้กรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคการเมืองจัดให้มีการประชุมสมาชิกในจังหวัดนั้น

เพื่อพิจารณาเสนอนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาและรายชื่อสมาชิกในจังหวัดนั้น เป็นผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สมัคร สส.ตามมาตรา 45 โดยการประชุมดังกล่าวจะต้องมีสมาชิกพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คนขึ้นไป จึงนับเป็นองค์ประชุม

อย่างไรก็ดี รายชื่อบุคคลสมควรได้รับเลือกเป็น สส. ต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 แต่หากไม่อาจลงมติด้วยคะแนนเสียงตามกำหนดได้ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคจัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อลงมติเลือกผู้สมควรส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

ขณะที่มาตรา 50 การกำหนดนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ให้คำนึงถึงความเห็นของที่ประชุมตามมาตรา 45 และมาตรา 46 โดยก่อนประกาศนโยบายดังกล่าว พรรคการเมืองต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงของนโยบายนั้น

และส่งข้อมูลการวิเคราะห์นโยบายต่อ กกต. เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ 1.ที่มาของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินนโยบาย 2.ระยะเวลาในการดำเนินนโยบาย 3.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 4.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ กกต.
สั่งระงับการประกาศโฆษณานโยบาย

ส่วนที่ 3 การยุบพรรคการเมือง มาตรา 101 เมื่อพรรคการเมืองกระทำอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค 1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

มาตรา 102 เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา 101 ให้นายทะเบียนของ กกต.แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควรให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในการที่คณะทำงานนี้ไม่สามารถหาข้อยุติได้ใน 30 วัน นับแต่วันที่ตั้งคณะทำงานให้นายทะเบียน โดยความเห็นของ กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องเอง

ถัดมาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยกัน 5 หมวด คือ การเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ การประกาศผลการเลือกตั้ง การสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัย และบทกำหนดโทษ

โดยมาตรา 9 ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หากมีเหตุจำเป็นให้ กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่ประกาศได้ ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลงทุกเขตเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้กระทำไปก่อนวันที่ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

หมวด 4 การสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัย ส่วนที่ 1 การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มาตรา 118 เมื่อ กกต.สืบสวนหรือไต่สวนแล้วพบเห็นการกระทำผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง

มาตรา 119 ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้สุจริตเที่ยงธรรม หรือนับคะแนนไม่ถูกต้อง กกต.มีอำนาจสั่งให้เลือกตั้งหรือนับคะแนนใหม่หรือเขตเลือกตั้งนั้น ถ้าผู้สมัครกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นให้ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคำสั่ง กกต.ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี มาตรา 121 กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้นั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง และให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากตำแหน่งดังกล่าว