posttoday

กวาดล้าง "อิทธิพล" เกมอุ้มประชามติ-ปูทางเลือกตั้ง

08 มีนาคม 2559

ด้วยจังหวะเวลาที่สอดรับกันเช่นนี้ จึงทำให้การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลรอบนี้เป็นหวังผลเพื่อสกัดความปั่นป่วน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม คสช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บูรณาการป้องกันไม่ให้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมขีดเส้น 6 เดือน จะต้องกวาดล้าง จับกุมผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการ พร้อมย้ำว่าต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แต่เป็นที่กังขาว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของคำสั่งนี้อาจมีนัยมุ่งหวังจะสกัด “หัวโจก” ที่จะมาต่อต้านคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเปิดให้มีการทำประชามติเร็วๆ นี้หรือไม่

ดังจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เส้นทางตามโรดแมปเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ได้อย่างไม่สะดุด แต่เวลานี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญมีให้ได้ยินและดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แถมระยะหลังเริ่มมีการจุดประเด็นรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การรีบสกัดกระแสต่อต้านจึงมีความจำเป็น หากรัฐบาล คสช.หวังที่จะให้ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป

คำสั่งกวาดล้างผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศจึงถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณไปถึงใครก็ตามที่คิดจะสร้างความปั่นป่วนหรือเคลื่อนไหวต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคิดหนักขึ้น

หากจำได้คำสั่งเรื่องปราบผู้มีอิทธิพลของ คสช.มีมาตั้งแต่สมัยแรกหลังรัฐประหาร และประสบความสำเร็จได้รับเสียงชื่นชมจากชาวบ้านอยู่ไม่น้อย

ทั้งกวาดล้างผู้มีอิทธิพล วินรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ แผงลอย ไปจนถึงร่มชายหาด ยังไม่รวมกับการสั่งประกบติดตามความเคลื่อนไหวของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

จะเห็นว่า คสช.เคยมีคำสั่ง 324/2558 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2558 ให้ตั้งคณะกรรมการเรื่องการบูรณาการปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 ​และครบ 6 เดือน ในวันที่ 4 มี.ค. 2559 ​ที่เป็นวันสุดท้ายของการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวว่า ฐานของความผิดผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น คณะกรรมการได้มีการรวบรวมไว้ 16 ฐานความผิด โดยสนธิกำลังกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ปกครอง ตำรวจ ทหาร ลงไปดำเนินการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน

ในส่วนของตำรวจได้มีการเรียกผู้มีอิทธิพลมาพูดคุย และจับกุมตามหมายจับเก่าทั้งหลายใน 16 ฐานความผิดที่คณะกรรมการได้ตั้งไว้ โดยได้มีการระดมกวาดล้างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญเป้าหมายที่ลงไปเฝ้าสังเกตนั้นมีอยู่เป็นพันคนทั่วประเทศ

ดังนั้นจึงมีคำถามว่าหากดำเนินการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลไปตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ทำไมต้อง​ประกาศกวาดล้างผู้มีอิทธิพลอีกรอบในช่วงนี้ที่ร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นสุดท้ายจะเสร็จสิ้นจากมือ กรธ.ส่งไปยังรัฐบาล คสช.​ในวันที่ 30 มี.ค. เพื่อนำไปทำประชามติต่อไป

ตามคำชี้แจงของ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับประชาชนจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ เดือน มี.ค.-เม.ย. 2559 นี้ ที่จะประสานขอข้อมูลจากแต่ละพื้นที่

แต่ด้วยจังหวะเวลาที่สอดรับกันเช่นนี้ จึงทำให้การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลรอบนี้เป็นหวังผลเพื่อสกัดความปั่นป่วน และกรุยทางประชามติให้ราบรื่นยิ่งขึ้น   

ยิ่งล่าสุดทางกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึง ผบ.พล.1 รอ. เชิญหัวหน้าฝ่ายการข่าว เพื่อร่วมประชุมเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลมีการระบุรายชื่อผู้มีอิทธิพล 4 ราย ประกอบด้วย ​เก่ง-การุณ โหสกุล แชมป์ สส.เขตดอนเมือง มานับสิบสมัย ในนามพรรคเพื่อไทย เสธ.ไอซ์-พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตคนใกล้ชิดกับ ​ทักษิณ ชินวัตร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ ร.อ.มนัส อดีตทหาร อีกหนึ่งคนสนิทของ เสธ.ไอซ์ และชัยสิทธิ์ งามทรัพย์ ผู้กว้างขวางย่านหมอชิต

สอดรับกับที่หลายคนกังขาว่าเป้าของการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลรอบนี้โยงใยถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพล หัวคะแนน จากฝั่งขั้วอำนาจเก่าหรือไม่ โดยหวังผลเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะมองไกลไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี  2560

หากเป็นเช่นนั้นจริง การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลรอบนี้อาจไม่โดนใจชาวบ้านเหมือนรอบที่ผ่านมา และยังสุ่มเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็นปัญหาย้อนกลับมายังรัฐบาล คสช.ในระยะยาว