posttoday

มหาเจดีย์ชเวดากอง (2)

04 มิถุนายน 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

มีแฟนคลับท่านหนึ่งถามมาว่า เขาอยากจะไปเที่ยวประเทศเมียนมา และอยากจะไปไหว้พระเจดีย์ชเวดากองกับวัดเทพทันใจ จะไปช่วงฤดูกาลไหนจะสวยที่สุดและดีที่สุด?

ผมคิดว่าคนที่ถาม ท่านอาจจะเคยไปมาแล้ว คงจะมีปัญหาอะไรในใจหรือเปล่า? จึงได้ถามผม แต่ผมก็ไม่กล้าที่จะถามเขาตรงๆ จึงได้บอกว่าให้รออ่านบทความผมในคอลัมน์นี้ก็แล้วกันครับ

ที่จริงการท่องเที่ยวในประเทศเมียนมา ผมคิดว่าทุกฤดูกาลก็มีสภาพไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก เพราะประเทศเราต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน จะมีเพียงฤดูฝนเท่านั้นที่ต้องควรระวัง เพราะที่นั่นฝนจะชุกกว่าบ้านเรา

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากท่องเที่ยวภายในกรุงย่างกุ้งที่เดียว ก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงฤดูกาลอะไรมากมายนัก เอาเป็นว่าท่านสะดวกเมื่อไหร่ ก็สามารถบินไปได้เลย เพราะในช่วงปกติ ราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ก็ไม่ต่างจากการบินไปเชียงใหม่หรือภูเก็ตมากนัก จะมีก็เฉพาะช่วงนี้แหละครับ ที่ราคาค่อนข้างจะสูงไปนิดหนึ่ง

ส่วนที่วันโบดะถ่องหรือวัดเทพทันใจ ฤดูกาลไหนก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน จะมีเพียงช่วงวันเทศกาลที่ทางวัดจัดงานเท่านั้น ที่จะมีคนเมียนมาเข้ามาเที่ยวงานวัดกันมาก นอกนั้นก็ปกติครับ

สำหรับบนมหาเจดีย์ชเวดากอง ก็เช่นเดียวกันครับ แต่ถ้าหากเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ผมแนะนำว่าอย่าได้ไปเลยครับ เพราะคนจะแน่นมาก เรียกว่าถ้าจะเดินบนรอบมหาเจดีย์ คุณยืนเฉยๆก็ถูกดันให้เดินไปโดยอัตโนมัติเลยละครับ

สำหรับส่วนตัวผมเอง ผมจะชอบไปกราบสักการะในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าช่วงกลางวันครับ เพราะเวลากลางวันจะร้อนจากแดดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เขาต้องให้เราถอดรองเท้าเดินบนพื้นหินอ่อนจะร้อนเท้ามาก

ถ้าเป็นหินเกรนิตก็จะไม่ร้อนมากนักครับ แต่ช่วงเวลากลางคืน นอกจากอากาศจะเย็นกว่ากลางวันแล้ว แสงไฟที่เขาเปิดสว่างไสวไปหมด สวยงามกว่าตอนกลางวันมาก อีกทั้งยังมีชาวบ้านมานั่งสวดมนต์ทั่วทั้งบริเวณ ทำให้เหมือนมีการเติมพลังได้อย่างดีเลยครับ

เมื่อครั้งที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงสถานที่สำคัญที่เราไม่ควรพลาด ถ้าได้ไปกราบสักการะที่บนมหาเจดีย์ชเวดากอง ที่มีสถูปเรียงรายอยู่มากมาย สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าไปกราบไหว้ที่ขาดไม่ได้คือ “จตุรมุข” ที่อยู่รายรอบมหาเจดีย์ทั้งสี่ทิศ มุขที่ว่านี้เป็นเหมือศาลาที่มีไว้ด้านหน้ามหาเจดีย์ เพื่อให้ผู้ที่มากราบไหว้สักการะได้เข้าไปกราบไหว้นั่นแหละครับ

เพราะนอกจากเราจะได้ชื่นชมปฎิมากรรมของแต่ละมุข ที่แตกต่างกันทุกมุข แต่ละมุขเขาจะนำเอาสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคสมัยการปกครองของพระมหากษัตริย์เมียนมามาตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ผมเองก็ต้องรับสารภาพว่า จำไม่ได้ว่าแต่ละมุขมียุคสมัยไหนบ้าง? คงต้องสอบถามกับไกด์ทัวร์เอาเองนะครับ

ภายในมุขแต่ละมุข เขาจะสร้างพระพุทธรูปที่เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนของพระพุทธเจ้าแต่ละยุคสมัยไว้ แต่ทั้งหมดนั้นจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยของ “ภัทรกัป” ทั้งหมด แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายหลายกัปหลายสมัยมาก จึงอัญเชิญได้เพียงสี่พระองค์เท่านั้น

เช่น หากเดินตามเข็มนาฬิกา ก็จะเริ่มจากทิศตะวันออก ก็จะเป็นพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 22 ของภัทรกัป ทิศใต้จะเป็นพระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 23 ของภัทรกัป ทิศตะวันตก ก็จะเป็นพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 ของภัทรกัป

และสุดท้ายทางทิศเหนือ ก็จะเป็นพระโคตมสัมสาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจุบัน หรือที่เราขนานพระนามว่า “ภควา”พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเองครับ เราต้องเข้าไปกราบสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิตให้ครบทั้งสี่ทิศหรือทั้งสี่มุขนั่นเองครับ

ผมเองชอบขึ้นไปทางลิฟต์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วเริ่มเดินจากมุขทิศเหนือเป็นมุขแรก ซึ่งต้องบอกว่าด้านทิศเหนือนี้ มีทั้งสถูปเจดีย์และพระพุทธรูปปางต่างๆ และสิ่งที่เราน่าจะเข้าไปกราบไหว้เยอะมาก เช่นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ปางสมาธิ

อีกทั้งยังมีพระพุทธบาทจำลอง ที่เขาก็มีที่มาที่ไปเหมือนกับพระพุทธบาทในบ้านเราเช่นกัน เพียงแต่ว่ารูปร่างจะไม่เหมือนของบ้านเราครับ พระพุทธบาทจำลองนี้ เขาจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไปจับต้องลูบคลำนะครับ เขาจะอนุญาตเฉพาะผู้ชายเท่านั้น และยังมีน้ำพระพุทธมนต์ใส่อ่างน้ำไว้ให้ประชาชนได้นำมาล้างหน้าดื่มกินด้วย

ผมแนะนำว่าล้างหน้าหรือใช้พรมศรีษะก็พอนะครับ ไม่ต้องถึงกับดื่มก็จะดีและปลอดภัยกว่าครีบ

เมื่อเราเดินไปทางลงบันไดด้านหน้าทางทิศเหนือ จะเป็นทางเดินที่ยาวที่สุดของทางเดินรอบมหาเจดีย์ จึงเหมาะที่จะเป็นจุดถ่ายรูปได้ดีมาก เพราะจะได้ภาพที่มีพระมหาเจดีย์เต็มองค์ แต่จะไกลไปนิด ภาพจึงจะเล็กไปนิดครับ กลางทางเดินจะมีต้นตาลสูงตะหง่านอยู่กลางทางเดิน เป็นต้นตาลในตำนานที่มีมาช้านาน ในหนังสือบทเรียนชั้นประถม ก็จะมีภาพต้นตาลนี้อยู่ในหน้าหนังสือครับ

สิ่งที่น่าสนใจยังมีอีกเยอะ แต่กระดาษหมดเสียแล้วครับ คงต้องต่อในอาทิตย์หน้าครับ อย่างที่ผมบอกไว้ครับว่า เรื่องราวหรือสถานที่สำคัญๆที่เราไม่ควรพลาดบนมหาเจดีย์ชเวดากองนั้นมีเยอะมาก

ถ้าเดินรอบมหาเจดีย์บนนั้น สามชั่วโมงก็เดินดูไม่ครบ ดังนั้นการพูดในรายการวิทยุที่มีเวลาสั้นๆไม่กี่นาที จึงยากที่จะบรรยายให้เห็นภาพได้ยากมาก และการเขียนบรรยายคงต้องมีหลายตอนทีเดียว

คงต้องติดตามตอนต่อๆไปนะครับ