posttoday

เปรียบเทียบนิคมอุตสาหกรรม (5)

18 กรกฎาคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

ผมได้นำเอานิคมอุตสาหกรรมในย่างกุ้งจับคู่เปรียบเทียบไปแล้ว 4 คู่ ซึ่งหลายท่านที่กำลังจะไปลงทุนในเมียนมาได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

แต่หลายท่านที่ไม่เคยคิดจะไป อาจจะรู้สึกว่า “เฮ้ย...มาเล่าให้ฉันฟังทำมั้ยว่ะนี่” อย่างไรก็ตาม ถือว่าอ่านเอาสนุกๆนะครับ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”

สักวันหนึ่งพอเราคิดจะไปลงทุน จะได้เปิดมาอ่านดูใหม่ได้ครับ วันนี้เรามาคุยต่อนะครับ ผมจะเอา “นิคมอุตสาหกรรมโต่งอ๊อกกะล่า” มาเปรียบเทียบกับ “นิคมอุตสาหกรรมเมี้ยวอ๊อกกะล่า” ให้ท่านได้ทราบกันนะครับ

คำว่า “โต่ง”แปลว่าใต้ ส่วนคำว่า “เมี้ยว” แปลว่าเหนือ นั่นหมายความว่า ทั้งสองนิคมนี้อยู่ใน “เขตอ๊อกกะล่าป้า”ด้วยกันทั้งสองนิคม ซึ่งก็มีสนามกอล์ฟกั้นกลางครับสนามกอล์ฟนี้อยู่ตรงกันข้ามกับห้างสรรพสินค้ากันดามาโฮลเซลส์นั่นเองครับ

พอพูดมาแค่นี้คนที่อยู่เมืองย่างกุ้งต้องร้อง “อ้อ...อยู่ที่นี่เองเหรอ” ทันทีครับ ถ้าเป็นด้านที่เข้าเมืองหรือถ้าหันหน้าออกจากห้างสรรพสินค้ากันดามาโฮลเซลส์ มาทางขวามือ ก็จะเป็นโต่งอ๊อกกะล่า ทางด้านซ้ายมือก็จะเป็นเมี้ยวอ๊อกกะล่า ซึ่งในปัจจุบันนี้ความเจริญเข้ามาถึงหมดแล้วครับ

ทำให้หลายๆคนอาจจะดูไม่ออกว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมเลย เพียงแต่หน้าตาทางเข้าของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรมนี้ ยังมีป้ายบอกว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่นะครับดังนั้นเวลาขออนุญาตสร้างโรงงานอะไร ก็ยังสามารถที่จะใช้อานิสงฆ์ของคำว่านิคมอุตสาหกรรมอยู่ ตัวอย่างเช่น

การขอสร้างโรงงานอีเล็คโทนิคส์ ท่านสามารถใช้ขออ้างนี้ขอส่งเสริมการลงทุนหรือMIC ได้สบายมากเลยครับ เผลอๆอาจได้รับการยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกต่างหากครับ

เรามาดูที่นิคมโต่งอ๊อกกะล่าก่อนนะครับ ที่นี่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเก่ามากๆ ภายนอกนิคมฯที่ติดถนนใหญ่ คือถนนหว่าซาหน่ายาลัน จะเป็นร้านค้ามาเปิดกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยมีร้านอาหารยะไข่ ชื่อร้าน “เมนลัน ยะไข่โม่ตี” ที่มีอยู่หลายสาขา ที่นี่จะเป็นสาขาที่ 3 ของเขา

ร้านจะเป็นที่นิยมของชาวย่างกุ้งพอสมควร คนไทยเราเองก็พอรับได้ เรียกว่าอร่อยเลยละครับ เพราะจะมีอาหารของชาวยะไข่ที่มีรสเผ็ดแบบไทย และมีอาหารทะเลเป็นหลัก อีกทั้งยังมีกะปิชั้นดี ที่เขาเอามาเป็นส่วนผสมกับอาหารได้ลงตัวมาก ที่น่าสนใจคือขนมจีนยะไข่ หรือ ยะไข่โม่ตีนี่แหละครับ น้ำซุปเขาเอาปลาแห้งมาต้ม จะหอมมากๆ

อ้าว....เผลอโฆษณาให้เขาเสียแล้ว มาดูต่อครับ หน้าถนนใหญ่ยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตของCity Mart มาเปิดที่นี่ ดังนั้นถือว่าสะดวกมากๆ ภายในนิคมในอดีตจะเป็นโรงไม้เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นเจ้าของที่ดินภายในนิคมอุตสาหกรรมนี้จะเป็นคนเมียนมาเชื้อสายจีนกับเชื้อสายอินเดียเป็นส่วนใหญ่ครับ ปัจจุบันนี้ถนนภายในนิคมฯนี้เป็นถนนคอนกรีตอย่างดี มีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่อยู่หน้าโรงงานทุกโรงแล้วครับ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อดีของนิคมอุตสาหกรรมนี้ แต่ข้อเสียของนิคมโต่งอ๊อกกะล่านี้คือที่ดินภายในเต็มหมดแล้ว ล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของเศรษฐีหมดแล้ว เศรษฐีพวกนี้เขาเอาเงินสดออกมาซื้อที่ดินเก็บใว้ทั้งนั้น ต้นทุนจึงไม่มีดอกเบี้ยดังนั้นราคาจึงไม่สามารถลดลงมาได้

ข้อเสียอีกอย่างคือภายในนิคมฯปัจจุบันนี้ ได้มีผับ บาร์ คาราโอเกะ เข้ามาเปิดแล้วอย่างละร้าน จึงทำให้กลางคืนหมดความสงบสุขแล้วครับ และผมเองก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คงจะถูกให้กันออกมาให้เป็นเขตเมืองแน่นอนครับ

นิคมอุตสาหกรรมเมี้ยวอ๊อกกะล่า จะอยู่ค่อนไปทางสนามบิน และสถานีรถโดยสารต่างจังหวัดแมงกะล่าดอง แต่ยังอยู่บนถนนหว่าซาหน่ายาลันเช่นกัน ด้านหน้าจะมีวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

ปีหนึ่งจะมีงานเฉลิมฉลองกันสิบวันเลย การเดินทางกลางคืนที่ผมเคยบอกว่า ถ้าไปสถานีรถโดยสารต่างจังหวัดจะติดมากๆ ก็จะเริ่มติดกันตั้งแต่แยกนี้เลยครับ ด้านซ้ายมือของถนนจะเป็นเขตทางรถไฟ ส่วนขวามือเป็นทางเข้านิคมอุตสาหกรรมเมี้ยวอ๊อกกะล่า ถ้าไม่สังเกตุดีๆ จะดูไม่ออกว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม นอกจากคนที่คุ้นเคยเท่านั้นถึงจะรู้

นิคมอุตสาหกรรมนี้ก็เช่นกัน ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม ยังคิดว่าเป็นเขตชุมชน แต่ถ้าขับรถเข้าไปจะเห็นมีโรงงานอยู่เต็มไปหมด ที่นี่ในอดีตจะเป็นอุตสาหกรรมถั่วชนิตต่างๆ อาหาร และเครื่องบรรจุภัณฑ์

ปัจจุบันนี้จะเป็นโกดังเก็บสินค้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะที่ดินแถบนี้จะแพงขึ้นตามนิคมอุตสามหกรรมโต่งอ๊อกกะล่า ภายในนิคมฯเอง ถนนยังไม่ได้ปรับปรุงดีเท่าครับ เพียงแต่พื้นที่นิคมฯเมี้ยวอ๊อกกะล่าจะใหญ่กว่านิคมฯโต่งอ๊อกกะล่ามาก

ความเจริญกำลังไล่หลังเข้ามาเรื่อยๆ เพราะด้านหน้าของนิคมฯนี้ มีสะพานลอยรถข้ามสามารถเข้าถึงสนามบินทางด้านข้างได้เลย และถนนด้านจากสนามบินมาที่สะพานนี้ในอดีตจะเป็นที่ทิ้งขยะเหมือนที่อ่อนนุชบ้านเรา แต่ปัจจุบันนี้ได้ถมกลบเรียบร้อยแล้วเปลี่ยนเป็นการเอาที่ดินนั้นมาสร้างบ้านจัดสรรหมดแล้ว และกำลังจะสร้างถนนในสวยงามขึ้นอีก

ดังนั้นจึงทำให้ที่ดินแถบนี้จะปรับโฉมใหม่อีกในไม่ช้านี้แน่นอนครับ สรุป ทั้งสองนิคมอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่กำลังจะปรับโฉมใหม่หมด การหาซื้อที่ดินมาทำโรงงานอุตสาหกรรม จึงเป็นไปได้ยาก ทำ Feasibility Study ยังไงก็ไม่ผ่าน เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นมาก เพียงแต่ถ้าซื้อมาทำอุตสาหกรรมแล้ว

ไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนราคาที่ดิน แต่ให้มองไปอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า ราคาที่ดินแถบนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมากอีกหลายเปอร์เซ็นต์ แค่ทำอุตสาหกรรมรอให้ความเจริญเข้ามาเท่านั้นครับ