posttoday

โอกาสการค้าและการลงทุนไทย จากนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีน

23 กรกฎาคม 2563

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

ปัจจุบันบทบาทจีนด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้โดดเด่นขึ้นอย่างมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนได้ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศที่อยู่ในแนวเส้นทางสายไหมใหม่ภายใต้ชื่อเรียกว่า “ข้อริเริ่ม BRI” (Belt and Road Initiative) ข้อริเริ่ม BRI ของจีนซึ่งครอบคลุม 71 ประเทศและร้อยละ 63 ของประชากรโลก

นับเป็นการขยายบทบาทและแสวงหาผลประโยชน์ของจีนโดยการเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ภายใต้ความพยายามที่จะสร้าง “โมเดลใหม่” ในการบูรณาการจีนกับภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง เช่น การเชื่อมโยงระบบรางผ่านเส้นทางรถไฟจากจีนผ่านหลายประเทศไปจนถึงภูมิภาคยุโรป

การแสดงบทบาทผู้นําของจีนในระดับโลกทั้งด้านการค้าและการต่างประเทศนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)ของโลกที่ประเทศกําลังพัฒนาและประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนจะมีบทบาทต่อการกําหนดรูปแบบทิศทางการค้าและการลงทุนโลกมากยิ่งขึ้น โดย ไทย จีน และประเทศในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงที่สําคัญ

จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สําคัญของไทยและประเทศภูมิภาคอาเซียน ทั้งการเป็นตลาดรองรับการส่งออกและเป็นแหล่งนําเข้า นอกจากนั้น จีนถือเป็นประเทศผู้ลงทุนสําคัญในไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ ในด้านการค้าระหว่างประเทศ

แม้จีนจะเป็นตลาดหลักสำคัญที่สุดของไทย แต่สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแค่กลุ่มวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่นเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์

ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องมือเครื่องจักรมูลค่าสูงจากจีน เช่น สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ด้วยโครงสร้างการค้าเช่นนี้ จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีน จากการประสานนโยบายระหว่างไทยและจีน เช่น ข้อริเริ่ม BRI, Made in China 2025, GBA, กับ Thailand 4.0 และโครงการ EEC ทำให้บริษัทจีนมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมาลงทุนในประเทศไทย

ในทางปฏิบัติ มีบริษัทจีนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะพื้นที่ EEC และคาดกันว่าการลงทุนจากจีนมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการ EEC ให้มีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จ

ในด้านการลงทุนของจีนในไทย ปัจจุบันมี 123 บริษัทในจีนที่ได้เข้ามาลงทุนในไทย และพื้นที่ EEC เช่น หัวเว่ย พีซีแอล จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนเปิดเผยว่า นักลงทุนจีนและฮ่องกง มีการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2561 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ด้วยมูลค่า 42,562 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์

ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นักลงทุนจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC แล้วกว่า 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ทั้งหมดรวม 75,097 ล้านบาท

จากผลกระทบจากนโยบาย BRI นี้ทำให้ไทยควรมีการตรียมพร้อมมากขึ้นโดยจะต้องมีการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไปจีนอย่างจริงจัง โดยเน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภคไปป้อนผู้บริโภคจีนให้มากขึ้น เช่น อัญมณี เครื่องประดับตกแต่งบ้าน

ซึ่งในขณะนี้มีผู้บริโภคจีนที่นิยมสั่งสินค้าออนไลน์มากที่สุดในโลกประมาณ 650 ล้านคนที่สั่งสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการปรับโครงสร้างการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปจากไทยไปจีนอย่างจริงจังด้านการลงทุน

รัฐบาลควรปรับโครงสร้างการลงทุนในการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และควรมีเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่รัดกุมในการส่งเสริมการลงทุนจากจีน เช่น

1.ต้องเป็นโครงการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ตอบแทนให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทย 2.ต้องช่วยสร้างสร้างงานและสร้างความเข้มแข็งให้คนไทย ในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้วิชาชีพ เทคโนโลยีหรือในลักษณะให้มีการตั้ง บริษัทลูก ที่บริหารโดยคนไทยเพื่อสนับสนุนบริษัทแม่ เป็นต้น 3.ต้องเป็นการลงทุนที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้วัตถุดิบภายในประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตรและช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในบางกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศ โดยใช้น้ำยางดิบจากเกษตรกรชาวไทย เป็นต้น

โครงการ BRIนี้ จะเป็นการหยิบยื่นโอกาสกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทั้งด้านการสร้างงานและการกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่หากมีการค้าการลงทุนและการผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวมากขึ้น

แต่ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและการรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งจากภาคประชาชน ภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อม ฯลฯ

เพื่อเปิดโอกาสให้ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลประโยชน์ในเชิงพื้นที่รวมทั้งการรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ เชี่ยวชาญที่รู้จริงแล้วมาปรับโครงการตามความเหมาะสม

สำหรับเนื้อหารายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ดังกล่าว สามารถรับชมได้จากการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยประจำปีของสถาบันฯ “ITD Research Forum 2020 online seminar” ซึ่งรับชมย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ www.itd.or.th และ ITD Facebook LIVE