posttoday

ICDL หนุนไทยเตรียมคนรับ 4.0

08 กันยายน 2561

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและการสื่อสาร จึงเกิดความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาคประชาชน ในการเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อภาคเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อการใช้ดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน เช่น การศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตร การเงิน และการลงทุน

ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายแผนงานด้านดิจิทัลของประเทศไทยมี 4 องค์ประกอบสำคัญ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างด้านต่างๆ ทั้ง อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ คลาวด์ นวัตกรรม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “ทรัพยากรมนุษย์” การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่อัพเดทและพร้อมที่จะนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ให้มีความพร้อมต่อโลกในอนาคต

เดเมียน โอ ซัลลิแวน ประธานกรรมการบริหาร ICDL Foundation องค์กรระดับนานาชาติที่ทำงานเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานความสามารถทางด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวในงาน “Digital Literacy Day 2018” ถึงภาพรวมของดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลในเอเชียว่า การเปลี่ยนของดิจิทัลในเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และถือว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแต่ก็มองเห็นศักยภาพในการเป็นผู้นำพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล

“ถ้าเทียบกันในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีแล้ว มองว่าประเทศไทยยังเป็นผู้นำอยู่ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการเทรนนิ่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยังสามารถเป็นศูนย์กลางในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลแล้วส่งต่อไปยังประเทศในซีแอลเอ็มวีได้ แต่สำหรับ ICDL แล้วยังอยากเห็นการพัฒนากำลังคนเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะทำให้เหมาะและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศตัวเองมากกว่า” เดเมียน กล่าว

สำหรับสิ่งที่ยังเป็นความท้าทายใหญ่ของประเทศไทยในการเปลี่ยนถ่ายสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั่น คือ การนำนโยบายของภาครัฐขยายผลนำไปสู่การปฏิบัติจริง และต้องทำงานประสานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมอย่างสถาบันการศึกษา โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ ประเทศไทยอาจต้องทำงานหนักในการเร่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล

ด้าน กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า คนไทยเริ่มมีความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมรับกระแสดิจิทัลแล้ว แต่ยังไม่มากพอ หลายคนคิดว่ามีทักษะเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังไม่มากพอ และตำแหน่งงานกว่า 90% ที่เปิดรับอยู่ในขณะนี้ล้วนมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล ทำให้จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะแรงงานด้านดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ดี ทีดีอาร์ไอ ได้ทำการศึกษาถึงปริมาณความต้องการกำลังคนในด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งพบว่ายังมีความต้องการอยู่มาก โดยเสนอไปว่าควรจะต้องเร่งยกระดับ (อัพเกรด) ทักษะแรงงาน ที่สำคัญจำเป็นต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการเปลี่ยนทัศนคติในการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจให้มากขึ้น รวมทั้งต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน