posttoday

จับตา ‘มาเลเซีย’ หลังเปลี่ยนถ่าย

16 พฤษภาคม 2561

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย หลังแนวร่วมฝ่ายค้าน พรรคปากาตัน ฮาราปัน ภายใต้การนำของ มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งไปอย่างพลิกความคาดหมาย

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย หลังแนวร่วมฝ่ายค้าน พรรคปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) หรือ PH ภายใต้การนำของ มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งไปอย่างพลิกความคาดหมาย นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองมากว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะมีคลื่นสึนามิใดบ้างที่กระทบมายังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย

เรื่องนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (สคต.) กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้วิเคราะห์และให้ข้อมูลว่า ในมุมมองของ สคต. คาดว่าในระยะสั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเงินตลาดทุนพอสมควร เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ สูง และนักลงทุนอาจไม่มั่นใจต่อความต่อเนื่องของแนวนโยบายเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี เมื่อมาเลเซียได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนน่าจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ นโยบายหลักในแผนการพัฒนาหรือปฏิรูปประเทศของมาเลเซีย ก็ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากแท้จริงแล้ว แผนการพัฒนาประเทศของมาเลเซียในปัจจุบันก็มีรากฐานมาจากวิสัยทัศน์ 2020 ของมหาเธร์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

สำหรับนโยบายด้านการพัฒนาภายใต้การกลับมาของ มหาเธร์ รอบนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เพราะในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนาจิบ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในขณะที่แนวนโยบายที่พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านของมหาเธร์ใช้หาเสียงนั้น จะมุ่งเน้นการพัฒนา “Soft Infrastructure” หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือคนมาเลเซียให้มีทักษะและความสามารถมากกว่า

ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะกลางและระยะยาวนั้น ยังเชื่อว่า มาเลเซียจะยังคงรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากในปี 2560 ซึ่งเติบโตได้สูงถึง 5.9% เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเข้มแข็ง ส่วนความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น นโยบายและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

นอกจากนี้ คาดว่ารัฐบาลใหม่ โดยพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน น่าจะเข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจมาเลเซียได้ หากสามารถดำเนินการตามแนวนโยบายที่ได้ใช้ในการหาเสียง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ภาครัฐที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น การยกระดับค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,000 ริงกิต เป็น 1,500ริงกิต/เดือน

การช่วยลดหนี้สินแก่เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกยางภายใต้ โครงการรวมแปลง การสร้างที่อยู่อาศัยที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จำนวน 1 ล้านหลัง ภายใน 10 ปี การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแม่บ้าน รวมถึงนโยบายที่เป็นที่ถกเถียงกันมากคือ การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่อัตรา 6% ตลอดจนการอุดหนุนราคาน้ำมันสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม

ทั้งนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เนื่องจากมาเลเซียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และยังเป็นผู้ลงทุน (การลงทุนทางตรง) สำคัญลำดับที่ 2 ของไทย รองจากสิงคโปร์

ทว่าสิ่งที่อาจจะต้องจับตาดูต่อไปคือ ท่าทีของมาเลเซียต่อนโยบายการต่างประเทศที่มีต่อสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก เนื่องจากมหาเธร์เคยมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลต่อแนวนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียต่อไปด้วย

ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียครั้งนี้ที่ออกมาแบบที่นักวิชาการหลายๆ คนเรียกว่า เป็นการ “พลิกฟ้า หงายแผ่นดิน” ที่คนส่วนใหญ่เคยได้ผลประโยชน์จากรัฐบาลของนาจิบ หันมาเลือกพันธมิตรฝ่ายค้านแทนนั้น นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะต้องถอดบทเรียนว่า อะไรคือจุดพลิกแห่งชัยชนะครั้งนี้

ภาพ เอเอฟพี