posttoday

ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง กับการเติบโตก้าวกระโดด

19 ธันวาคม 2561

เวทีประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 4 ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เรื่อง ธนพล บางยี่ขัน

เวทีประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 4 ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขยายความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นระหว่างไทยและ สปป.ลาว พร้อมเชื่อมโยงกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 4 ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ความร่วมมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาคืบหน้าไปมากจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดมีโครงการความร่วมมือ 130 รายการเกิดขึ้นใน 2 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศต้นน้ำถึงปลายน้ำโขง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมืออีกหลายเวทีทั้งระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม สำหรับ MLC มีการพัฒนาการเร็วครอบคลุมการพัฒนาหลายด้านที่เป็นประโยชน์ ทั้งการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การผลิต เกษตร การศึกษา และทางกลุ่ม 5 ประเทศ ลุ่มน้ำโขงยังมองเห็นถึงศักยภาพที่จะยังสามารถทำอะไรร่วมกันได้อีกหลายเรื่อง เช่น นวัตกรรม ทรัพยากรมนุษย์ ไฟฟ้า พลังงาน รวมไปถึงความร่วมมือด้านพื้นฐานการเชื่อมโยงเสาหลักของอาเซียน ตามแนวทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองความมั่นคงที่เราทำมาแล้วสองปี และปีหน้าจะมีเรื่อง สุขอนามัย ศุลกากร

“ความร่วมมือเดินได้เร็ว จากเด็กแรกเกิดสามารถเดินได้ วิ่งได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความร่วมมือของ 6 ประเทศ ที่จะก้าวเดินต่อไป เอื้อกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่จะคู่ขนานเสริมกับ MLC และความร่วมมืออื่นในลุ่มแม่น้ำ อีกทั้งฝ่ายจีนยังได้แสดงความสนใจที่จะเป็นหุ้นส่วนพัฒนา ACMECS อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การเจริญเติบโตในภูมิภาคเป็นประโยชน์กับประชาชนของทั้ง 6 ประเทศ และเป็นผลดีต่อโลก” ดอน กล่าว

นอกจากนี้ สำหรับกองทุนพิเศษของ MLC ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนรวม 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของไทยปีที่ผ่านมาได้รับอนุมัติ​ 5 โครงการ เช่น โครงการทรัพยากรน้ำที่ทำร่วมกับประเทศอื่นๆ ดูแลบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากอดีตที่บางช่วงพื้นที่ปลายน้ำจะขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง ซึ่งในอนาคตจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

ดอน กล่าวอีกว่า ในส่วนการหารือทวิภาคีระหว่าง รมว.ต่างประเทศของไทยและจีนนั้นมีการพูดถึงการทำงานร่วมกันในกรอบทวิภาคีและไตรภาคี เช่น เรื่องความร่วมมือระหว่างไทย จีน สปป.ลาว ในการก่อสร้างสะพานใหม่เพิ่มจากที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟเร็วสูงซึ่งจะมาจากทางตอนใต้ของจีนผ่านมายัง สปป.ลาว และเชื่อมมาไทยซึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำ โดยได้พูดกันในหลักการว่าทั้งสามฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแต่ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียด

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ที่จะจัดการประชุมระหว่างประเทศ ว่าด้วยการพัฒนายั่งยืนในอนุภาคลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขง ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาระหว่างสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน โดยแต่ละประเทศจะสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมกับจีน ซึ่งจะเป็นตัวยืนเป็นเจ้าภาพร่วมในแต่ละครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 ซึ่ง สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพร่วมกับจีน

หวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน กล่าวว่า การจัดตั้งระเบียงการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Economic Development Belt) จะช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการร่วมมือพัฒนายุทธศาสตร์ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม การขนส่ง ไปจนถึงเรื่องการดูแลระบบนิเวศการดูแลรักษาทรัพยากรแหล่งน้ำ

ขณะที่ สะเหลิมไซ กมมะสิด รมว.ต่างประเทศ สปป.ลาว กล่าวว่า ที่ประชุมพอใจผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการลดความยากจนและกองทุนพิเศษ MLC ที่ช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมทั้งยืนยันหลักการ MLC ที่จะยึดมั่นในเรื่องความเสมอภาค ความร่วมมือ จิตอาสา และการแบ่งปันผลประโยชน์ และมิตรภาพ

ถือเป็นความร่วมมือที่จะสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคในทุกมิติ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง