posttoday

จัดทัพบุกจีนใต้

05 กันยายน 2561

พื้นที่จีนตอนใต้เป็นตลาดศักยภาพมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง

โดย..ปิยนุช ผิวเหลือง

จีน ประเทศมหาอำนาจใหม่ ผู้นำเศรษฐกิจโลก ด้วยจำนวนประชากรมหาศาล ความต้องการบริโภคสูง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาณาเขตประเทศจีนที่เชื่อมโยงกับไทยและมีระยะทางใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่พื้นที่จีนตอนใต้ ซึ่งถือเป็นตลาดศักยภาพมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ด้วยความสำคัญของพื้นที่จีนตอนใต้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับกลุ่มบริษัท บางกอก โพสต์ จัดสัมมนา "จัดทัพปรับกลยุทธ์ บุกจีนตอนใต้” โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน เพื่อฉายภาพโอกาสทางเศรษฐกิจในจีนตอนใต้และแนวทางในการบุกตลาดของผู้ประกอบการ

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการค้าชายแดนของจีนตอนใต้ในปี 2558 กับมูลค่าการค้าชายแดนของจีนตอนใต้ในปี 2560 พบว่าเติบโตขึ้น 31% โดยปัจจุบันมีมูลค่าการค้าชายแดนเกือบ 8 หมื่นล้านบาท/ปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพของตลาด ทั้งนี้เส้นทางบกที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับจีนตอนใต้มีหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง R3A เชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว-จีน เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ระยะทางทั้งสิ้น 1,858 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง R9 ผ่านไปทางประเทศเวียดนาม และเส้นทาง R12 เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเส้นทางบก

ทั้งนี้ จีนตอนใต้มีอาณาเขตใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศจีน และด้วยความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากประเทศไทยบางส่วน อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดใช้เวลาการขนส่งจากประเทศไทยไปจีนตอนใต้ รวดเร็วกว่าการขนส่งจากประเทศจีนด้วยกันเอง เนื่องจากภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ แม้ไทยจะตอบสนองความต้องการสินค้าให้กับจีนตอนใต้ได้ดี แต่การขนส่งสินค้าต้องอาศัยประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนโดยตรง

พิทยสัณห์ เดชประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับเส้นทางการขนส่งสินค้า R3A เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักจากประเทศไทยไปยังจีนตอนใต้ โดยได้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้ ตลอดจนคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสทางการค้าในจีนตอนใต้จำนวนมาก แต่สิ่งสำคัญผู้ประกอบการต้องศึกษาความแตกต่างของแต่ละมณฑลในประเทศจีน โดยเฉพาะด้านนโยบายที่รัฐบาลจีนส่งเสริม จะช่วยให้การส่งออกสินค้าไปยังแต่ละพื้นที่สะดวกมากขั้น

ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายและประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีชายแดนใกล้กับจีนตอนใต้มากที่สุด โดยประเทศจีนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับนานาประเทศ เพื่อแสดงเจตจำนงในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากเส้นทางบกยังมีเส้นทางน้ำ ตามแนวแม่น้ำโขงสามารถลำเลียงสินค้าไปยังจีนตอนใต้ โดยจีนระบุว่าตนเป็นชาติเดียวในโลกที่สามารถคิดนวัตกรรมใช้แรงดันน้ำ ยกระดับเรือเพื่อแล่นผ่านเขื่อนโดยที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเดิมคือลิฟต์

ขณะที่ วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษคลังสมองจีน-อาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกรรมการ ฟาร์อีสต์ โปรเฟสชั่นแนล กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ คือ การเพิ่มมูลค่าการค้าข้ามแดน และการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน แต่ประเทศไทยไม่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนโดยตรง ที่ผ่านมาจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดน แต่ยังมีเส้นทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงเชื่อมไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นควรเจรจาใช้สิทธิการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศไทยและจีน ประหนึ่งสิทธิพิเศษทางการค้าชายแดนเพื่อยกระดับมูลค่าการค้าระหว่างกัน

พ.อ.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสังคมจีน เปิดเผยว่า จีนมองว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จีนจะเป็นประเทศทันสมัย โดยโครงการสำคัญของจีนในขณะนี้ คือ โครงการ BRI (Belt and Road Initiatives) ที่คนไทยรู้จักในนามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ภายใต้หลักการการค้าเชื่อมสะดวก การเงินไหลเวียน โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ การเมืองเชื่อมโยง เพื่อให้ประชาชนชื่นใจ

สกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมืองคุนหมิงเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่จีนตอนใต้ และประเทศจีนกำลังพัฒนาให้เมืองคุนหมิงมีความโดดเด่น โดย 4 ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนบุกตลาดจีน ได้แก่ เส้นทางภูมิศาสตร์ การเติบโตของจีดีพี ช่องทางโอกาส และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค