posttoday

เปิดประตูตราด สู่เมืองศก.หน้าด่าน

11 กรกฎาคม 2560

โพสต์ทูเดย์และผู้ร่วมสนับสนุนเตรียมนำคณะนักธุรกิจร่วมเจาะลึกการค้า-การลงทุน "ตราด-เกาะกง เส้นทางยุทธศาสตร์ เจาะตลาดกัมพูชา-เวียดนาม"

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ หนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ ร่วมกับ บริษัท บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด(เอพีเอ็ม) ร่วมจัดกิจกรรมใหญ่แห่งปี โครงการ “CLMVT ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก”  ที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาใน โปรแกรมแรก เส้นทาง "มุกดาหาร-สะหวันนะเขต 2 เศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโลก” ระหว่างวันที่  3-5 มี.ค. และโปรแกรมลำดับที่ 2  คือ  "เขตเศรษฐกิจพิเศษอ.แม่สอด จ.ตาก-เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมียวดี เมียนมา"  พร้อมสัมมนาในหัวข้อ  “บุกแม่สอด-เมียวดี เจาะตลาดเมียนมา จีน อินเดีย”  ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา

ล่าสุด โปรแกรมลำดับที่ 3 ของปีนี้ ผู้จัดฯเตรียมนำคณะนักธุรกิจร่วมเดินทางพร้อมสัมผัสบรรยากาศการค้า และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 ชาติ ภายใต้หัวข้อ  “ ตราด-เกาะกง เส้นทางยุทธศาสตร์ เจาะตลาดกัมพูชา-เวียดนาม” วันที่ 24-26 ก.ค. นี้ ณ โรงแรมบ้านปูรีสอร์ท และโรงแรมเกาะกง อินเตอร์เนชั่นแนล รีสอร์ท  โดยในงานฯดังกล่าวผู้สนใจในพื้นที่สามารถเข้าร่วมฟังงานเสวนาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าร่วมทริปตลอดทั้งโปรแกรมฯดังกล่าว เสียค่าใช้จ่ายเพียงท่านละ 10,999 บาท  

ทั้งนี้ก่อนจะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในพื้นที่การลงทุนจริง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เตรียมเสนอรายงานพิเศษ เพื่อแนะนำข้อมูลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2แห่ง ในจ. ตราด และเกาะกง ที่มีเสน่ห์การลงทุนมัดใจแตกต่างกัน โดยเฉพาะจ.ตราด เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับประกาศให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคาดหวังไว้ว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนตราดจากเดิมที่เป็นเพียงแค่ “เมืองผ่าน” ให้พลิกกลับมาเป็น “เมืองหน้าด่าน” การค้าที่สำคัญ

ชาญนะ เอี่ยมแสง  ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ฉายภาพเมืองตราดให้ฟังว่า ตราดต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าไปดำเนินการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคแล้วขายพื้นที่ให้ ขณะที่ตราดเปิดให้เอกชนประมูล ซึ่งก็ได้ตัวผู้ประมูลไปแล้ว ทำให้แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ไปในแนวทางเดียวกัน

นั่นคือ การปักธงให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตราดเป็นอุตสาหกรรมบริการ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหรืออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการรับบริการที่พ่วงมากับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรือโลจิสติกส์ ที่สำคัญต้องไม่สร้างมลภาวะ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้เป็น Green City

“ตอนนี้ตราดได้งบในการสร้างสาธารณูปโภคทั้งถนน 4 เลน ระยะทาง 80 กิโลเมตร ตามสัญญาจะเสร็จปี 2563 และการพัฒนาระบบน้ำ ไฟ รวมถึงท่าเรือน้ำลึกขนาด 500 ตันกรอส นอกจากนี้มีแผนที่จะทำรถประจำทางวิ่งเชื่อมระหว่างตราดกับเกาะกงตามเส้นทางสาย R10 ซึ่งจะทำให้การเดินทางขนส่งสะดวกขึ้น และมองว่าจะไม่ได้เชื่อมแค่เกาะกงเท่านั้น แต่จะเชื่อมไปถึง กัมปอต สีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) แกบของกัมพูชา ฟูก๊วก (เกียนยาง) ของเวียดนามได้” ชาญนะ กล่าว

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของตราดคือ มีถนนสุขุมวิทเป็นเส้นเลือดใหญ่เพียงเส้นเดียว และขยายเต็ม 4 เลนแล้ว แต่ความคับคั่งของการจราจรก็ทำให้เต็มศักยภาพ จึงต้องหาเส้นทางใหม่ แนวคิดคือ “มอเตอร์เวย์” ต่อจากระยองที่มีการพัฒนาเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งได้เสนอของบภาค (ตะวันออก) ในการทำระบบรางเพื่อเชื่อมโครงข่าย

ประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ขณะนี้ทางพร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟ็กต์ ที่ชนะประมูลสัมปทานเป็นผู้พัฒนาที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษตราดไปนั้น อยู่ระหว่างการวางแพลนและเริ่มทำภูมิสถาปัตย์แล้วบางส่วน ปลายปีนี้น่าจะเริ่มลงทุนได้ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

เบื้องต้น แผนการพัฒนาของพร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟ็กต์ จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.ตลาดการค้าชายแดน ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป ศูนย์การค้าและเอ็กซิบิชั่น ฮอล์ 2.โรงแรมบูทีคระดับ 5 ดาว 2 แห่ง 3.สวนสนุกและสวนน้ำ 4.โรงพยาบาล และ5.โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (โรงงานแปรรูปผลไม้และอาหารทะเล) รวมถึงคลังสินค้า (Warehouse)

“ตราดจะใช้ถนนเป็นตัวกระจายความเจริญ แล้วดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า โดยจะไม่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เพราะตราดเป็นเมืองสีเขียวมานาน ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตราดสามารถพัฒนาได้ทั้งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะเป็นเมืองชายทะเลที่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชาและเวียดนามได้ อีกทั้งยังมีท่าเทียบเรือและมีการเปิดสายเดินเรือสำราญนำเที่ยว จึงไม่แปลกที่ผู้ได้สิทธิพัฒนามองและมุ่งไปที่การทำเรียลเอสเตทแบบครบวงจร”ประธาน กล่าว

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ คลองใหญ่ ไม้รูดและหาดเล็ก พื้นที่รวม 3.13 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่ที่เอกชนได้สัมปทานพัฒนาไป 898 ไร่ โดยมีตำบลไม้รูดเป็นไข่แดงที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ประมาณ 700 ไร่ อาชีพหลักของคนในจ.ตราด ส่วนใหญ่คือ ประมง เกษตรกรรม ค้าส่งค้าปลีกและค้าชายแดนที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

จากภาพที่ฉายออกมา ทำให้เริ่มมองเห็นถึงศักยภาพของ ‘ตราด’ ในวันนี้ ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมเป็นสาวงามที่มีเสน่ห์ดึงดูด (การลงทุนแบบกรีนๆ ) ไม่เบาทีเดียว