posttoday

เซบาสเตียน โทเกลัง คนดิจิทัล อินโดนีเซีย

27 มีนาคม 2560

เซบาสเตียน โทเกลัง ผู้ร่วมก่อตั้ง (โคฟาวเดอร์) และหุ้นส่วน เคโจร่า เวนเจอร์ นักธุรกิจชาวอินโดนีเซียผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพกว่า 15 ปี

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

เซบาสเตียน โทเกลัง ผู้ร่วมก่อตั้ง (โคฟาวเดอร์) และหุ้นส่วน เคโจร่า เวนเจอร์ นักธุรกิจชาวอินโดนีเซียผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพกว่า 15 ปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ไอเดียบ็อกซ์ (Ideabox) ศูนย์บ่มเพาะทางเทคโนโลยี ทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฟินเทค และดำรงตำแหน่งเลขาธิการอินโดนีเซีย เวนเจอร์ แคปปิตอล แอนด์ สตาร์ทอัพ แอสโซซิเอชั่น อีกด้วย

“สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสตาร์ทอัพ ที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรปและจีน เช่น อาลีบาบา กำลังเกิดขึ้นในอาเซียน และคาดว่าจะขยายตัวขึ้นอีกในไม่ช้า” โทเกลัง กล่าว

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย เป็นเหตุผลให้ กองทุนเคโจร่า เลือกขยายสำนักงานมายังประเทศไทย ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นประเทศที่ 4 ในการขยายสำนักงานของเคโจร่า เวนเจอร์ จากก่อนหน้าเปิดตัวไปแล้วในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ด้วยมองว่าไทยยังมีโอกาสในการเกิดสตาร์ทอัพ รวมทั้งโอกาสของนักลงทุน โดยเคโจร่า เวนเจอร์ ต้องการเป็นหนึ่งในกองทุนยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาสร้างระบบอีโคซิสเต็มให้เหมาะแก่การเกิดสตาร์ทอัพในไทยและอาเซียน

พร้อมกล่าวถึงข้อดีของสตาร์ทอัพในไทยขณะนี้ คือ รัฐบาลกำลังสนับสนุน และสตาร์ทอัพไทยกำลังตื่นตัว แต่จุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทย คือ ภาษา หากต้องการก้าวเข้าไปในภูมิภาค ภาษาอังกฤษเป็นตัวสื่อสารหลัก และการไม่กล้าคิดนอกกรอบ “สตาร์ทอัพไทยจะต้องข้ามกำแพงด้านภาษา และต้องกล้าคิดนอกกรอบเพื่อไปในระดับอาเซียน”

ปัจจุบัน เคโจร่า เวนเจอร์ ร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว 29 บริษัท มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลา3 ปี (2558-2560) โดยอนาคต เคโจร่าฯ วางแผนลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพต่อเนื่องและมีความสนใจในไทยเป็นพิเศษ สำหรับการตัดสินใจเลือกลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ แต่ละธุรกิจนั้น โทเกลัง กล่าวว่า “การตัดสินใจลงทุนในสตาร์ทอัพแต่ละราย จะดูว่าแต่ละทีมเป็นอย่างไร จะสามารถปั้นไอเดียที่ทีมมีอยู่ ให้กลายเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ ได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดต้องทำให้ผมเชื่อให้ได้”

นอกเหนือจากนี้จะมองหาสตาร์ทอัพที่รักในการทำงานของตัวเอง และมีแรงกระตุ้นในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ความคิดของสตาร์ทอัพที่เข้ามานำเสนอ เมื่อประเมินแล้วพบว่าสามารถเป็นไปได้ โดยเจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นศาสตราจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเด็กจบใหม่ ทุกคนล้วนมีโอกาสได้รับเงินทุนจากเคโจร่าฯ ซึ่งเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยรร่วมกับพันธมิตร สิ่งสำคัญที่สุด การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นโอกาสให้กับบริษัทชั้นนำต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ผนึกกำลังส่งเสริมกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีในอาเซียนให้ก้าวหน้า โดยจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ หากเกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในภูมิภาค ประกอบกับการมีระบบเศรษฐกิจที่ดี

ทั้งนี้ จากบรรยากาศการสนับสนุนของภาครัฐ บรรยากาศการสนับสนุนของภาคเอกชน และบรรยากาศของนักลงทุน เช่น ธุรกิจเงินร่วมลงทุนยักษ์ใหญ่ ต่างให้ความสนใจตลาดในไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เคโจร่า เวนเจอร์ โกลเดนเกต เวนเจอร์ส ฯลฯ และบรรยากาศในสถานศึกษาที่คอยบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนตั้งแต่เริ่มต้น ที่สำคัญไม่แพ้กัน ต่างต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการเกิดสตาร์ทอัพ

หากทำสำเร็จได้จริง หมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และวิถีชีวิตของคนในสังคมย่อมพัฒนาตามไปด้วย