posttoday

พบพระตั้งสหกรณ์กัญชง พัฒนาเส้นใยเชิงพาณิชย์

18 กันยายน 2558

แม้จะเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง

โดย...อัศวิน พินิจวงษ์

แม้จะเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง แต่กัญชงนั้นเป็นที่ยอมรับในวงการสิ่งทอว่า เป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูงและกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
มีพระราชเสาวนีย์ให้พิจารณาข้อดีของกัญชง ตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ก็จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดตั้งคณะทำงานวิจัยและพัฒนาการปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ หรือกัญชง โดยนำร่องในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก เนื่องจากชาวไทยภูเขาเผ่าม้งมีการปลูกเฮมพ์เพื่อใช้สอยในครัวเรือนกันอย่างแพร่หลายตามวิถีชีวิตดั้งเดิม

กระทั่งในปี 2553 ผลการวิจัยก็สามารถได้พันธุ์กัญชงที่มีปริมาณสารเสพติดต่ำ เพื่อนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และในปี 2557 เป็นต้นมา มีการขออนุญาตกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลูกกัญชงตามระบบควบคุม โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีสารเสพติดต่ำ และเริ่มส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ 97 ไร่ ของ อ.พบพระ เพื่อขายต้นเฮมพ์สดให้กับภาคเอกชน พัฒนารูปแบบสินค้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

สายพันธ์ กาบใบ นักวิชาการโครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ กล่าวว่า ในปี 2558 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อตั้งเป็น “สหกรณ์ผู้ปลูกเฮมพ์อำเภอพบพระ” รองรับการปลูกเฮมพ์เชิงพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางตลาดมากขึ้น

“สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต”

ด้าน ชานนท์ โชติคัคนานต์ นายก อบต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก บอกว่า ได้จัดทำโครงการฝึกอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าใยเฮมพ์ เพื่อใช้เส้นใยกัญชงไปผลิตเครื่องนุ่งห่ม นอกจากจะเป็นการยกระดับรายได้ของชาวบ้านแล้ว อีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญมาก คือการพัฒนารูปแบบสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเส้นใยจากกัญชง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของทั่วโลก ไปผลิตเป็นสินค้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะพื้นที่ อ.พบพระ แม่สอด แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งได้รับการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ต้องติดตามโครงการนี้กันอย่างต่อเนื่อง เพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดว่าจะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจตาก คือกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งหากมีการพัฒนาเส้นใยกัญชงเพื่อใช้ในเชิงวพาณิชย์ได้ ก็จะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยไปอีกขั้น