posttoday

นโยบายส่งเสริมนวัตกรรมใน SMEs ของสิงคโปร์และมาเลเซีย

25 พฤศจิกายน 2564

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบการขายสินค้าและบริการให้เข้าถึงง่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

การปรับตัวดังกล่าวครอบคลุมทั้งในมิติรูปแบบสินค้า รูปแบบการโฆษณา และรูปแบบการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นการปรับตัวเชิงนวัตกรรม ถึงแม้ภาคธุรกิจจะเป็นผู้เล่นหลักที่ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด แต่หน่วยงานรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมต่างๆ ให้ภาคเอกชนเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ที่เผชิญผลกระทบเชิงลบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศที่มีพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่ดีมีโอกาสที่จะปรับตัวได้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้มากกว่า ดังนั้นประเทศไทยควรเรียนรู้นโยบายการผลักดันนวัตกรรมใน SMEs จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย OECD ได้ให้นิยามของนวัตกรรม (Innovation) ว่าหมายถึงการทำสิ่งใหม่ขึ้นมาจากความสามารถในการสร้างสรรค์ และการใช้ความรู้ในการประดิษฐ์คิดค้นซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ 

ไม่จำกัดแค่การทดลองในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ The Oslo Manual for Measuring Innovation กล่าวว่า นวัตกรรมสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1) นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ 2) นวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต 3) นวัตกรรมด้านการตลาด 4) นวัตกรรมด้านการจัดการรายงาน

“การเปรียบเทียบนโยบายและประสิทธิภาพการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกลุ่ม SMEs ของประเทศสมาชิกอาเซียน” ในปี 2560 โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ เป็นตัวอย่างประเทศที่ดีในการผลักดันนวัตกรรมใน SMEs 

โดยสิงคโปร์มุ่งเน้นการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อวิสาหกิจใหม่ และอุทยานวิทยาศาสตร์ที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และการมีความร่วมมือระหว่างบริษัทข้ามชาติและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก 

นอกจากนี้ เครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรระดับนานาชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

ขณะเดียวกัน มาเลเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการสนับสนุนนวัตกรรมใน SMEs เช่นเดียวกัน โดยการผลักดันให้ SMEs ได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันวิจัยดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานสินค้า ISO สถาบันจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ SMEs มีสินค้าที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐานสากล 

มาเลเซียยังมีศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีแผนการพัฒนา “Technology Commercial Platform” และ “Inclusive Innovation” ซึ่งมุ่งเน้นให้ SMEs เข้าถึงการใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ได้ง่าย 

จากการศึกษาตัวอย่างนโยบายการพัฒนานวัตกรรมใน SMEs ของสิงคโปร์และมาเลเซียข้างต้น จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์และมาเลเซียให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและการสร้างเครือข่ายระหว่าง SMEs และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ SMEs เข้าถึงองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าของ SMEs มีมาตรฐานและมีคุณภาพ

ดังนั้น รายงานวิจัยฉบับดังกล่าวนี้ จึงได้เสนอให้ประเทศไทยผลักดันมหาวิทยาลัยเป็นแกนกลางในการพัฒนานวัตกรรมในแต่ละด้าน รวมทั้งการให้บริการสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายและเป็นระบบ และมีโอกาสในการพัฒนางานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ เพื่อให้สินค้าและบริการของ SMEs ได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างสม่ำเสมอ ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ SMEs มีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทขนาดใหญ่ ในแง่ของการให้บริการสนับสนุนต่างๆ โดยการสร้างเครือข่ายระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ 

สภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมมีความสำคัญยิ่งต่อภาคเอกชนในการปรับตัวและแสวงหาโอกาสจากสถานการณ์ที่ผันผวนต่าง ๆ หน่วยงานรัฐในประเทศไทยควรออกแบบนโยบายการพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs ในระยะยาว เพื่อให้ SMEs เติบโตได้อย่างยั่งยืน และผลิตสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงาน “การศึกษาเปรียบเทียบนโยบายและประสิทธิภาพการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกลุ่ม SMEs ของประเทศสมาชิกอาเซียน” ซึ่งจัดทำโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้ที่ https://www.itd.or.th/itd-data-center/research-report_study-of-policy-asean/