posttoday

อำนวยความสะดวกการค้าอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint 2025

29 มิถุนายน 2562

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

จากแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 (AEC Blueprint 2015) ที่เป็นกรอบแนวทางด้านเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้มีการดำเนินการตามแผนงานโดยมีการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเปิดเสรีบริการที่สูงขึ้น การเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกการลงทุน การลดขั้นตอนและการปรับความสอดคล้องของกรอบงานและนโยบายด้านกฎระเบียบ ตลาดทุน การส่งเสริมการพัฒนา กรอบนโยบายการแข่งขันในระดับภูมิภาค การคุ้มครองผู้บริโภคและทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการเชื่อมโยง การลดช่องว่างการพัฒนา และการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ

ในการประชุมสุดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้รับรองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 เพื่อกำหนดทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559-2568) ซึ่ง AEC Blueprint 2025 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) การเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง 2) การมีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม

และมีพลวัต 3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวรายสาขา 4) ความสามารถในการปรับตัว ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและ 5) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

การดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ AEC Blueprint 2025 ได้มีการระบุไว้ในยุทธศาสตร์ย่อยว่าด้วยการค้าสินค้า หลักว่าด้วยการเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง โดยให้มีการดำเนินงานตามแผนงาน AEC Blueprint 2015 ที่เกี่ยวกับการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ผ่านมาทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เสรีมากยิ่งขึ้น อาเซียนจะยังคงมุ่งเน้นในการลดหรือยกเลิกมาตรการด้านกฎระเบียบ ณ บริเวณพรมแดนและภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ในข้อ 10 ว่าด้วยการเร่งรัดและลงลึกในการดำเนินมาตรการในการอำนวยความสะดวกทางการค้า รายละเอียดดังนี้ อาเซียนมีบทบาทในการผลักดันให้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกประสบความสำเร็จในปี 2556 ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงดังกล่าวของประเทศสมาชิกอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนมีเป้าหมายที่จะมีระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สอดคล้องกันและมีระดับใกล้เคียงกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศของโลกให้มากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงาน ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า และทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยมีมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

•การดำเนินมาตรการที่ได้มีการริเริ่มไว้ใน AEC Blueprint 2015 ให้แล้วเสร็จ

•จัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระดับประเทศในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน และขยายขอบเขตโครงการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครอบคลุมเอกสารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มขึ้นในสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ

•ร่วมมือกันในการจัดการระบบฐานข้อมูลทางการค้าของประเทศและของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสด้านกฎระเบียบและเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถคาดการณ์ได้

•ลดขั้นตอนและปรับปรุงการบริหารจัดการระบบกฎระเบียบ ข้อกำหนดด้านเอกสารและกระบวนการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งพิธีการทางศุลกากร ให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติ

•ดำเนินการข้อริเริ่มของอาเซียนด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ลงลึกมากขึ้น อาทิ โครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน (เออีโอ) ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เป็นต้น

•เสริมสร้างความร่วมมือ การประสานงาน การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน พื้นฐานด้านโครงสร้างและด้านกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

•ลดการปกป้องทางการค้าและลดต้นทุนอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่มิใช่ภาษี ทั้งนี้ มาตรการที่มิใช่ภาษีส่วนใหญ่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย ความมั่นคง หรือวัฒนธรรม

แต่ขณะเดียวกัน ผลของการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีดังกล่าวสามารถเป็นอุปสรรคต่อการค้า ทั้งโดยเจตนาหรือมิได้เจตนา การแก้ไขปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษีเกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การเร่งรัดดำเนินการยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคที่มิใช่ภาษีทั้งหมด 2) การใช้มาตรการด้านมาตรฐานและการรับรอง เช่น การยอมรับกฎระเบียบ เทคนิคที่เทียบเท่ากัน การปรับประสานมาตรฐาน การดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม

และ 3) การลดขั้นตอนและข้อกำหนดสำหรับการขอหนังสือรับรอง และใบอนุญาตต่าง ๆ สำหรับการนำเข้าหรือส่งออก
มาตรการสำคัญที่จะยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนมีดังนี้

1.พิจารณาการใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวด และให้มีการกำหนดการยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีที่มีผลปกป้องทางการค้า เช่น โควตาและมาตรการอื่น ๆ ที่จำกัดปริมาณการนำเข้าและส่งออก

2.นำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ มาใช้ในการดำเนินการด้านกฎระเบียบภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้าที่มิใช่ภาษี

3.เสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานงานกับภาคเอกชนในการบ่งชี้จัดลำดับความสำคัญ และลดภาระด้านกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นอันเกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีต่อภาคเอกชน

4.พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการจัดการกับมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น แนวทางในการจัดการมาตรการที่มิใช่ภาษีเป็นรายสาขา หรือตามห่วงโซ่อุปทาน

•ดำเนินงานสู่มาตรฐานและการรับรองที่อำนวยความสะดวก โดยการดำเนินงานในเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินการและการปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิค การปรับปรุงคุณภาพและความสามารถในการประเมินความสอดคล้อง การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และระบบด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานและกระบวนการประเมินความสอดคล้อง

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือและความตกลงระดับภูมิภาคในมาตรการที่สนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ยกระดับสู่มาตรฐานที่ตกลงกันในระดับภูมิภาคและ/หรือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกโดยมีมาตรการที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ดำเนินมาตรการตามที่ได้ริเริ่มภายใต้ AEC Blueprint 2015 ให้แล้วเสร็จ และลงลึกในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

2.ดำเนินโครงการระดับประเทศและภูมิภาค เพื่อยกระดับศักยภาพทางเทคนิคและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สำหรับระบบการประเมินความสอดคล้องที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในภูมิภาค
3.จัดทำมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อความโปร่งใสและการเผยแพร่เรื่องข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละประเทศ

4.ขยายขอบเขตสาขาภายใต้การดำเนินการด้านมาตรฐานและการรับรองไปยังสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากสาขาที่เป็นสาขาเร่งรัดการรวมกลุ่มที่สำคัญ

5.นำแนวทางการปฏิบัติที่ดีมาใช้ในการเตรียมการ การนำมาปฏิบัติ และการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และกระบวนการด้านมาตรฐานและการรับรอง

6.เสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน รวมทั้งเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมออกแบบ ติดตาม ทบทวน และปรับปรุงระบบมาตรฐานและการรับรองของภูมิภาค

7.เสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือกับคู่เจรจาในการดำเนินการตามข้อบทด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ ในอนาคต