posttoday

ข้าวไทย จะสูญพันธุ์ ในตลาดจีน?

17 สิงหาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมเขียนบทความนี้ระหว่างการเดินทางไปเก็บข้อมูลข้าวที่เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) หางโจว (Hangzhou เมืองเอก) และหนิงโป (Ningbo เมืองอันดับสองรองจากหางโจว) ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) เพราะระหว่างวันที่ 14-16 ส.ค. 2561 ผมได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมี น.ส.พัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อแสวงหาโอกาสและอุปสรรคข้าวนิ่มของไทยในตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันจีนได้พัฒนาข้าวนิ่มไปอย่างมาก ผลผลิต 1.8 ตัน/ไร่

จีนปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในมณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) จี๋หลิน (Jilin) และเฮย์หลงเจียง (Heilongjiang) คิดเป็นร้อยละ 3 ภาคกลางตอนใต้ในมณฑลหูหนาน (Hunan) กว่างตุ้ง (Guangdong) หูเป่ย์ (Hubei) ร้อยละ 60 ภาคตะวันออกในมณฑลเจียงซู (Jiangsu) ฝูเจี้ยน (Fujian) และเจียงซี (Jiangxi) และในภาคใต้ในมณฑลยูนนาน (Yunnan) เสฉวน (Sichuan) และกุ้ยโจว (Guizhou) คิดเป็นร้อยละ 17

จีนนำเข้าข้าวเปลือกปีละ 1.8 หมื่นตัน (เมียนมา 1.3 หมื่นตัน ลาว 1,500 ต้น) ข้าวกล้องจากลาว 65 พันตัน เมียนมา 13 พันตัน เวียดนาม 7 แสนตัน ตามด้วยไทย 5 แสนตัน ก่อนปี 2553 ไทยครองแชมป์ข้าวขาวในตลาดจีน หลังจากนั้นไทยเสียแชมป์ข้าวขาวให้เวียดนามจนถึงปัจจุบัน

จีนปกป้องข้าวภายในประเทศด้วย 3 วิธีการคือ 1.ให้โควตาข้าวแก่ประเทศต่างๆ จำนวน 5.3 ล้านตัน (โควตาการนำเข้าข้าวสาลี 9.63 ล้านตัน ข้าวโพด 7.20 ล้านตัน) ประเทศไทยได้โควตา 3 แสนตัน ซึ่งทุกๆ ปี การนำเข้าไม่เคยถึง 5.3 ล้านตัน ได้จริงเพียง 4 ล้านตันเท่านั้น ภายในโควตาเก็บภาษี 1% (ยกเว้นแป้งข้าวเจ้าและอาหารธัญพืช 9%) รวม VAT อีก 13% เกินโควตาเก็บภาษีตามประเภทข้าว 10-65% ก่อนและหลังการเข้า WTO 2001 ของจีน มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพียง 3% (สัดส่วนจาก 7% เป็น 10% จากสัดส่วนรวมนำเข้าของข้าวสาลี ข้าวโพดและข้าว) 2.กำหนดราคาขั้นต่ำสินค้าเกษตร (Minimum Purchase Price : MPP หรือ Minimum Support Price : MSP) เช่น กลุ่มข้าวประเภทเมล็ดยาว (Indica Rice) ปี 2560 รัฐบาลจีนตั้ง MPP ข้าวเมล็ดยาวที่ 600 ดอลลาร์/ตัน ราคาข้าวไทย 400 ดอลลาร์/ตัน และเวียดนาม 470 ดอลลาร์/ตัน และ MPP เมล็ดสั้น 700 ดอลลาร์/ตัน ราคาข้าวไทย 500 ดอลลาร์/ตัน ต่างกันเฉลี่ย 25-35% และ 3.สนับสนุนเกษตรกรคือ  จ่ายเงินโดยตรง (Direct Payment) เมล็ดพันธุ์ (Seed Subsidy) น้ำมันและปุ๋ย (Fuel/Fertilizer Subsidy) และเครื่องจักร (Machinery Subsidy) ปี 2560 ทั้งประเทศจำนวน 25 พันล้านดอลลาร์ (8 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ การตรวจสอบการนำเข้าข้าวของจีนจากสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีนและใบรับรอง (AQSIQ) เมื่อเดือน มี.ค. 2561 AQSIQ ได้ยกเลิกในอนุญาตการนำเข้าจาก 3 บริษัทเวียดนามคือ Tan Dong Tien JSC, Thuan Minh Import-Export Corporation และ Intimex Group (the Saigon Times) เพราะมีการปลอมปนข้าวก่อนนำเข้ามาในจีน เหตุผลที่ทำให้ข้าวเมล็ดยาวเวียดนามมีราคาสูงกว่าข้าวไทยในตลาดจีนเพราะ 1.ความต้องการข้าวเวียดนามของคนจีนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภคและป้อนโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลทำให้ราคาปรับสูงขึ้น 2.จากราคาไทยที่สูงกว่าทำให้ผู้ประกอบการในจีนผสมข้าวไทยเพื่อทำให้ราคาถูกลง 3.คุณภาพข้าวไทยลดต่ำลง เช่น ข้าวหอมมะลิไม่มีความหอมแล้ว

"ข้าวไทยในตลาดจีนจะสูญพันธุ์หรือไม่?" เป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยอย่างมาก หากเราไม่ปรับตัวอย่างเร่งรีบมีโอกาสที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดจีนลดลงอย่างต่อเนื่องแน่นอนและเป็นศูนย์ในที่สุด ผมได้คุยกับคุณอู๋ เฟ่ย ฟู (Wu Pei Fu) และคุณฉาย เจิง เหมย (Cai Zheng Mei) ซึ่งเป็นพ่อค้าขายส่งข้าวในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของหางโจวชื่อว่า "Gouzuang" ผมพบว่า  1.รสนิยมคนจีนเปลี่ยนไปบริโภคข้าวนิ่มและเหนียวมากขึ้นเหตุผลเพราะคนมีเงินก็อยากจะบริโภคข้าวที่ไม่แข็ง 2.จีนได้พัฒนาข้าวแบบ "4 ดี" คือ นิ่มดี เหนียวดี กลิ่นดี และจีไอดี (GI) ชื่อว่าพันธุ์ข้าว "อู๋ ชาง (Wu Chang Rice)" เรียกตามชื่อเมืองในมณฑลเฮย์หลงเจียง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ 3.ปัจจุบันเสน่ห์ตรงกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทยได้หายไป และเกือบจะไม่มีกลิ่นอีกแล้ว คนจีนจึงลดความนิยมลงไป 4.ราคาข้าวอู๋ ชาง กับข้าวหอมมะลิใกล้เคียงกันหรือต่ำกว่าด้วยซ้ำ เช่น 5 กิโลกรัม ขายกันที่ 108 หยวนเท่ากัน หรือบางที่ราคาต่างกัน 50% 5.เส้นทางนักธุรกิจการค้าข้าวไทยในแถบตอนเหนือของจีนตั้งแต่เมืองหางโจวขึ้นไปไม่มีความเข้มแข็งเพราะแข่งขันกับข้าวจีนและเวียดนามด้านราคาไม่ได้ ทำให้ต้องออกจากธุรกิจ 6.พฤติกรรมของคนจีนในแถบทางตอนใต้ เช่น กว่างสี กว่างตุ้ง และยูนนาน มีแนวโน้มบริโภคข้าวนิ่มมากขึ้น 7.ไทยยังไม่สามารถผลิตข้าวนิ่มได้ไม่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่พฤติกรรมกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 8.อนาคตจีนจะเข้าไปพัฒนาพันธุ์ข้าวให้กับกัมพูชาเพื่อส่งไปขายคนจีนและตลาดโลก 9.ไทยต้องเร่งทำ "ใบรับรองมาตรฐานความหอมข้าวหอมมะลิ" ในตลาดจีน