posttoday

“ชาตินิยม” ในสื่อบันเทิง

09 พฤษภาคม 2561

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กีฬา การประกวดนางงาม  ละคร ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ดูเหมือนเป็นเรื่องความบันเทิงเท่านั้น แต่หลายครั้งสิ่งนี้แฝงด้วยความรู้สึกและสำนึกร่วมความเป็นชาติ กิจกรรมเหล่านี้สร้างความทรงจำที่ดีขณะเดียวกันก็อาจเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ส่งผลกับความสัมพันธ์ระดับประเทศ

ล่าสุด ในเวียดนาม มีการผลิตภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ “11 ความหวัง (11 Niềm Hy Vọng)” โดย Metan Entertainment กำกับโดย โรบี้ เจื่อง (Robie Trường) เปิดตัวตั้งแต่ปลายปี 2017 และจะออกอากาศในเดือนพฤษภาคมปีนี้  เนื้อเรื่องเล่าถึงตัวเอกชื่อ “ฟ็อง (Phong)” รับบทโดย ญานฟุ้กวิงห์ (Nhan Phúc Vinh) ที่ถูกบิดาห้ามเล่นฟุตบอล ทว่าเจ้าตัวไม่ย่อท้อ ฝ่าฟันอุปสรรคจนได้สวมเสื้อทีมชาติเวียดนาม “11 ความหวัง” ยังมีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติตัวจริงอีก 3 คน อย่าง เหงวียน ห่ง เซิน, เล หวิ่งห์ ดึ๊ก และ ฟาน วัน ต่าย แอม ร่วมแสดงด้วย โดยเรื่องที่เป็นประเด็นดราม่าเล็กๆ คือ ในคลิปตัวอย่างปรากฏเสื้อนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่คนเวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญ มีฉากการแข่งขันที่ผู้เล่นเวียดนามโดนศอก โดนเตะสกัด จนทำให้คนไทยบางคนที่ท่องโลกออนไลน์ไปเห็นเข้าก็ไม่พอใจ

ในเวียดนาม ฟุตบอลเป็นกีฬามหาชนเช่นเดียวกับในไทย ฟุตบอลสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันให้กับคนเวียดนาม การสร้างภาพยนตร์ที่ตอบโจทย์นี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีประเด็นชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แม้ว่าในความเป็นจริงแฟนบอลชาวเวียดนามได้เชียร์เพียงแค่ทีมชาติของตน แต่จำนวนมากก็ติดตามผลงานของทีมชาติไทยมาโดยตลอดและมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตามอยากชวนมองย้อนกลับไปว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก คนไทยเองก็เคยทำภาพยนตร์ลักษณะนี้เช่นกัน ถ้ายังจำกันได้ในปี 2006 ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยเจ้าหนึ่งสร้างหนังเรื่อง  “หมากเตะโลกตะลึง (Lucky Loser)” จนกระทบความรู้สึกของคนลาวเพราะเนื้อหาส่อไปในทางดูถูกทีมชาติลาว เมื่อเกิดการประท้วงจากคนลาว ผู้ผลิตก็เปลี่ยนชื่อหนังใหม่ เป็น “หมากเตะรีเทิร์น” เปลี่ยนเนื้อหาโดยทีมชาติลาวว่า “รัฐอาวี” แทน

ยังมีภาพยนตร์ไทยในปี 2006 ที่เข้าข่ายอีกเรื่องคือ ล่า-ท้า-ผี (Ghost Game) เล่าถึงการนำคน 11 คน ไปถ่ายทำรายการเรียลลิตี้ในพิพิธภัณฑ์สงครามแห่งหนึ่งของกัมพูชาที่มีหน้าตาคล้าย “คุกตุลสแลง” ที่เขมรแดงใช้ทรมานสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์และผู้มีแนวคิดต่างทางการเมืองเพื่อชิงเงินรางวัลก้อนใหญ่ ผู้เล่น 11 คนทำการท้าทายต่างๆ ในสถานที่แห่งนี้ ด้วย

เนื้อหาเช่นนี้ ในที่สุดรัฐบาลกัมพูชาสั่งแบนภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้เพราะกระทบกับความรู้สึกของคนกัมพูชา

ยังมีละครอิงประวัติศาสตร์ที่ปรากฏบนหน้าจอเงินและจอแก้วของประเทศในอาเซียนอีกหลายเรื่องที่สร้างตัวละครของประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นตัวร้าย

บทเรียนจากกรณีเหล่านี้ กำลังบอกเราว่า ในศตวรรษที่ 21 ในยุคประชาคมอาเซียน ในยุคที่การสื่อสารรวดเร็ว ผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์ในอาเซียนควรระมัดระวังให้มาก ด้วยในทางหนึ่งแม้จะเป็นไปเพื่อความบันเทิง แต่อีกด้านสื่อที่ผลิตออกมาก็อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนและอาจบานปลายจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ด้วย

“ชาตินิยม” ในสื่อบันเทิง

เครดิตภาพ
https://baomoi.com/11-niem-hy-vong-bo-phim-ve-bong-da-co-vu-u23-viet-nam/c/24690340.epi

http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2006/04/A4288286/A4288286-15.jpg

https://www.siamzone.com/movie/pic/2006/luckyloser/poster5.jpg