posttoday

ความเหลื่อมล้ำ ค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว

14 พฤศจิกายน 2560

สายสัมพันธ์อันดีในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงระหว่างไทย และ สปป.ลาว ส่งผลดีต่อการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่ทั้งไทย และ สปป.ลาว ติดต่อกันด้านการค้า

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

สายสัมพันธ์อันดีในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงระหว่างไทย และ สปป.ลาว ส่งผลดีต่อการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่ทั้งไทย และ สปป.ลาว ติดต่อกันด้านการค้า ทั้งการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมทั้งมีการเปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้ไทยมีการค้าขายกับ สปป.ลาว มากขึ้น

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกและนำเข้าจากการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้สูง แต่เนื่องจากโครงสร้างการผลิตเน้นการใช้ทุนอย่างเข้มข้น ผลประโยชน์โดยตรงจากสินค้าทุนเหล่านี้จึงตกอยู่กับวิสาหกิจขนาดใหญ่ ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะได้รับผลประโยชน์ในทางอ้อม

ส่วนเกษตรกรหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ จากการส่งผ่านของรายได้ในหมวดสินค้าเหล่านี้มากเท่าที่ควร จึงอาจ ไม่สามารถส่งเสริมในเรื่องของการกระจายรายได้ และการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนของไทย และ สปป.ลาว ได้

ยกตัวอย่าง กรณี จ.หนองคาย มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด คือ 50,430.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.33 ต่อปีของมูลค่า การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ทั้งหมด เนื่องจากการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ณ ด่านศุลกากร จ.หนองคาย เป็นด่านที่มีความเชื่อมโยง กับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ สปป.ลาว คือ นครหลวงเวียงจันทน์ได้โดยตรง และเป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่ประชาชนยากจนที่สุดและมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในประเทศไทย

สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้ทุนเข้มข้น ซึ่งจะไม่สามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำได้มีประสิทธิภาพมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า สินค้าที่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว ณ ด่าน จ.หนองคาย มีสินค้าชุมชน อาทิ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ด้วย ดังนั้น สินค้าเหล่านี้จึงไม่ควรถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยมี การใช้วัตถุดิบและแรงงานที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณชายแดนเป็นหลัก ผู้ประกอบการและชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่ม OTOP จะได้รับประโยชน์โดยตรง เนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแต่ละชุมชนเป็นทั้งเจ้าของ เป็นผู้ผลิต และเป็นผู้จำหน่ายสินค้า

ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพการส่งออกสินค้า OTOP จึงถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนช่วยเพิ่มการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนรวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อีกทางหนึ่ง