posttoday

ซะเปงการ์ จักรยานคนจน

04 กันยายน 2560

พูดถึงรถไซ้การ์ หรือรถสามล้อของเมียนมาแล้ว ต้องพูดถึงจักรยานซะอีกหน่อย จึงจะสมบูรณ์ครับ

โดย...กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

พูดถึงรถไซ้การ์ หรือรถสามล้อของเมียนมาแล้ว ต้องพูดถึงจักรยานซะอีกหน่อย จึงจะสมบูรณ์ครับ ที่เมียนมาในอดีตรถจักรยานมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตมากทีเดียวครับ ในกรุงย่างกุ้งนั้นเมื่อประมาณสัก 20 กว่าปีก่อน รถจักรยานจะเห็นกันเต็มเมือง รถยนต์ไม่ค่อยจะมี คนก็จะใช้จักรยานกันมาก ต่อมาหลังจากประมาณปี ค.ศ. 2000 เห็นจะได้ เมื่อมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ทำให้ทางการเมียนมาระงับการใช้รถจักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ท้องถนนมีแต่รถยนต์ รถจักรยานเลยพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ทำให้หายจากท้องถนนด้วยเช่นกัน แต่ในต่างจังหวัด เช่น มัณฑะเลย์ เมาะละแม่ง พะโค ฯลฯ ยังมีรถจักรยานยนต์ให้เห็นอยู่ครับ และยังเป็นยานพาหนะสำหรับชาวบ้านทั่วไปอยู่ครับ เพราะถนนหนทางที่ต่างจังหวัดยุคนั้นแย่มากๆ ดังนั้นมอเตอร์ไซค์กับจักรยานถือว่าดีกว่ารถยนต์เลยละครับ เพราะบุกน้ำลุยโคลนได้สะดวกดีครับ

รถจักรยานพวกนี้ ท่านคงคิดว่าเขาคงมีโรงงานเองที่เมียนมา เพราะด้านการผลิตคงไม่ต้องมีเทคโนโลยีอะไรมาก แต่ผิดครับ รถจักรยานนำเข้ามาทั้งหมดเลยครับ ช่วงแรกๆ ก็มีสินค้าจากไทยเป็นหลัก หลากหลายยี่ห้อ มีทั้งที่ดังๆ และที่โนเนมก็แห่กันเข้าไปขายกันหมด เรียกว่าตลาดจักรยานเป็นของเมดอินไทยแลนด์โดยสิ้นเชิงครับ ผมมีลูกศิษย์ท่านหนึ่งที่เป็นผู้ประกอบการโรงงานจักรยานในกรุงเทพฯ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมถามท่านว่าเป็นไงบ้าง ช่วงที่ผ่านๆ มาประมาณ 10 ปีมานี้ ยังขายดีเหมือนเมื่อก่อนไหม? ท่านบอกว่าขายน้อยลงเยอะมาก ผมเลยวิเคราะห์ให้ท่านฟังว่า สิ่งแรกเลยคือวิวัฒนาการมันเปลี่ยนไป คนเริ่มใช้สินค้าที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คนย่อมเลือกใช้สินค้าที่มีความทันสมัยมากขึ้น

ดังนั้น เขาก็เปลี่ยนไปซื้อรถจักรยานยนต์ และถ้ามีฐานะดีขึ้นไปอีก คนก็ต้องดิ้นรนไปซื้อรถยนต์กัน ตลาดจักรยานก็หดตัว อีกประการหนึ่งคือรถจักรยานมือสองที่มาจากญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาดเมียนมา เพราะที่ญี่ปุ่นมีรถจักรยานที่รอการกำจัดตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เยอะมาก ล้วนแต่เป็นรถจักรยานที่เขาทิ้งเกือบทั้งสิ้น ถ้าเราไปญี่ปุ่นจะเห็นว่าที่สถานีรถไฟฟ้าในทุกเมืองของญี่ปุ่น เราจะเห็นสุสานจักรยานในที่จอดรถของเขาเยอะมาก ล้วนแต่รอคนมากำจัด นั่นเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นการ ทิ้งขยะใหญ่จะต้องจ่ายค่าทิ้งขยะ เขาจึงเอารถจักรยานที่เขาไม่ต้องการแล้ว ไปจอดทิ้งไว้ในที่จอดรถตามสถานีรถไฟฟ้า พอมีพ่อค้าหัวใสไป มาขอขนมาจัดการซ่อมแซมนิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งเข้ามาผ่านแดนประเทศไทยไปขายในประเทศ เมียนมา ก็เท่ากับว่าช่วยเขากำจัดขยะไปด้วย แฮปปี้ทั้งสามฝ่ายเลยครับ

คราวนี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็แฮปปี้ มีคนมาช่วยขนขยะไปทิ้ง คนขนขยะก็แฮปปี้ ได้สินค้าดีต้นทุนต่ำไปขาย คนเมียนมาก็แฮปปี้ เพราะได้รถดีมีคุณภาพ แถมราคาถูกกว่าที่ซื้อกับผู้ประกอบการไทยไปใช้ครับ คนที่แย่คือเราแหละครับ ยอดขายน้อยลงทุกวันครับ หน้ากระดาษหมดเสียแล้ว เรื่องสนุกๆ ของจักรยานยังไม่จบครับ อาทิตย์หน้ามาต่อเรื่องจักรยานคนจนต่อนะครับ