posttoday

อาเซียน กับภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

15 สิงหาคม 2560

ในการประชุมระดับภูมิภาคด้านการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 (TRADE AND DEVELOPMENT REGIONAL FORUM 2017)

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th 

ในการประชุมระดับภูมิภาคด้านการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 (TRADE AND DEVELOPMENT REGIONAL FORUM 2017) ภายใต้หัวข้อการเชื่อมโยงการค้าและการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน จัดโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เมื่อวันที่ 19-20 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการกล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ไทยและอาเซียนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ซึ่งมีนัยอันลึกซึ้งต่อการค้า การพัฒนา และการลงทุน โดยปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น คือ กระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้น และความตกลงการค้าเสรีรูปแบบใหม่นอกกรอบองค์การการค้าโลก รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังคืบคลานเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำลายที่สร้างสรรค์

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ความท้าทายใหม่ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับความร่วมมือและการรวมตัวของภูมิภาค”โดยกล่าวเน้นย้ำว่า การบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบ 2 ด้านเสมอ ด้านหนึ่ง การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนนำไปสู่การเติบโตและขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นำไปสู่การลดลงของจำนวนประชากรที่ยากจน ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าราคาถูกลง ต้นทุนการขนส่งลดลง เกิดการเคลื่อนย้ายการผลิตในรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรมไปยังประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูก กรณีภูมิภาคอาเซียน ได้เกิดเครือข่ายการผลิตสำคัญระดับภูมิภาค โดยญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในกลุ่มสินค้ายานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่อีกด้าน การบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก คือ การเปิดตัวเองออกสู่โลกภายนอกที่มีความเสี่ยง อาเซียนมีบทเรียนจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งประเทศภูมิภาคนี้ได้เปิดเสรีทางการเงินรองรับเงินทุนต่างประเทศที่ต้นทุนถูก ดอกเบี้ยต่ำ โดยขาดการกำกับดูแลที่ดี ไม่รู้เท่าทัน จนเกิดภาวะฟองสบู่แตก นำไปสู่วิกฤตการเงินที่ลุกลาม

โลกาภิวัตน์ได้ก้าวมาถึงจุดหมุนกลับที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เนื่องจากมีคนตกงานมากขึ้น คุณภาพชีวิตตกต่ำลง มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การเจรจาการค้าโลกหลายฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะประเทศพัฒนาแล้วมุ่งแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ระบบการเจรจาการค้าโลกก้าวมาสู่ระบบการค้าทวิภาคีซึ่งเป็นการเจรจาที่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ

ดร.สุรินทร์ ได้ให้ข้อเสนอแนะทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคในระดับประเทศ คนไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวระดับภูมิภาค ควรตระหนักถึงมิติด้านวัฒนธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของการจัดการแรงงานข้ามชาติ คนไทยควรเคารพสิทธิของแรงงาน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ในระดับภูมิภาค อาเซียนควรเน้นการประสานและร่วมมือกันมากขึ้น อาเซียนต้องรวมตัวให้เป็นเอกภาพและเข้มแข็ง มีความไว้วางใจต่อกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายนอกภูมิภาค ทั้งปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ และความพยายามแบ่งแยกอาเซียน นอกจากนั้น อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ควรมีบทบาทที่เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค ควรพัฒนากรอบเชิงสถาบันให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระดับภูมิภาคให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนการรวมตัวระดับภูมิภาค

รวมทั้งให้ประชาชนสามารถเลือกอนาคตของตนเองได้