posttoday

พัฒนาผู้นำรุ่นต่อไป (ตอนจบ)

14 เมษายน 2559

การที่บุคลากรในปัจจุบันไม่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้า หรือผู้จัดการ เนื่องจากมีมุมมองว่าการเป็นผู้นำนั้นเป็นเรื่องเครียด

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

การที่บุคลากรในปัจจุบันไม่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้า หรือผู้จัดการ เนื่องจากมีมุมมองว่าการเป็นผู้นำนั้นเป็นเรื่องเครียด ทำให้ทั้งผู้บริหารในหน่วยงาน และผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์เกิดความหนักใจในการเตรียม และปั้นผู้ที่จะขึ้นมานำทีมในรุ่นต่อไปได้อย่างทันการณ์

แนวทางการรับมือ ทำได้ทั้งสามระดับ ระดับองค์กร ระดับทีม และระดับบุคคล คือ การพูดคุยของหัวหน้ากับลูกน้อง

ในระดับองค์กร คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำในรูปแบบที่ดึงดูดคนที่องค์กรต้องการ และมีการจัดการให้ผลตอบแทนและรางวัลต่างๆ ที่สอดคล้องกัน เช่น ถ้าองค์กรต้องการผู้นำรุ่นต่อไปที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง (Emotional Intelligence) วัฒนธรรมองค์กรอาจรวมถึงเรื่องการปฏิบัติต่อกันของคนในองค์กรเหมือนการปฏิบัติต่อลูกค้าภายนอก นอกจากนั้นการระบุข้อแตกต่างของผู้มีความสามารถในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ควรรวมเรื่องขีดความสามารถด้าน EQ เข้าไปด้วย และมีเรื่องพัฒนา EQ รวมอยู่ในการพัฒนาภาวะผู้นำด้วย

ในระดับทีม การสื่อสารข้อดีในการเจริญเติบโตไปในตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรควรทำบ่อยๆ และไปในทิศทางเดียวกัน การสื่อสารอย่างเดียวอาจไม่พอ ควรสร้างประสบการณ์เชิงบวกด้วย เช่น จัดให้มีกิจกรรมที่พนักงานได้พบปะร่วมงานกับผู้บริหารที่มีความสำเร็จและทัศนคติดี การจัดให้พนักงานได้หมุนเวียนการทำงานไปในทีมต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจพิเศษของเขา เป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อการเปลี่ยนแปลง และการมีเครือข่ายเพื่อนฝูงมากขึ้น ทำให้เขามีความมั่นใจในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นมากขึ้นด้วย

ในระดับบุคคล การที่หัวหน้าบังคับและขีดเส้นให้ลูกน้องเติบโตอย่างที่หัวหน้าต้องการ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ลูกน้องต่อต้านการเลื่อนตำแหน่ง หัวหน้าที่ดีควรหมั่นถามถึงความสนใจพิเศษของเขา จุดแข็ง และถามเนิ่นๆ ว่าเขามีความสนใจเติบโตไปอย่างไรในองค์กร ช่วงเวลาที่มีระหว่างนี้จะช่วยพัฒนาเขาอย่างไร หัวหน้ากล่าวถึงข้อดีให้ลูกน้องทราบ เช่น การเป็นผู้นำทีม มีข้อดี เช่น เขาจะได้อิสระในการตัดสินใจ ได้ริเริ่มอะไรเอง และเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้อื่นในวงกว้างขึ้น เป็นต้น