posttoday

"ผู้นำอิตาลี" ลาออกเซ่นประชามติ หวั่นประชานิยมครองยุโรป

06 ธันวาคม 2559

นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี ประกาศลาออกหลังการเปิดเผยผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ความวิตกเกี่ยวกับพรรคการเมืองประชานิยมและอนุรักษนิยมแพร่อิทธิพลไปทั่วยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น หลังนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี ประกาศลาออกหลังการเปิดเผยผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งซีเอ็นเอ็นระบุว่า ประชาชนอิตาลีเกือบ 70% ออกมาใช้สิทธิลงประชามติครั้งนี้ โดยจำนวนผู้คัดค้านการปรับแก้รัฐธรรมนูญมีสัดส่วนราว 59.26% เมื่อเทียบกับผู้ลงมติเห็นชอบที่ 40.74%

“ในวันนี้ผมจะประชุมร่วมกับท่านประธานาธิบดี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา และยื่นใบลาออก ผมขอรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ครั้งนี้เพียงผู้เดียว รัฐบาลของผมจบลงที่นี่วันนี้”เรนซี กล่าว

ก่อนหน้านี้ เรนซี ให้คำมั่นว่าจะลาออกจากตำแหน่งหากประชาชนลงมติไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอให้จำกัดอำนาจของสภานิติบัญญัติ โดยลดจำนวนวุฒิสภาลงเหลือ 100 ราย จาก 315 ราย ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถผ่านกฎหมายต่างๆ ได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

การประกาศลาออกของเรนซี พลิกขั้วอำนาจการเมืองกลับไปสู่พรรคฝ่ายค้านขวาจัดอย่างพรรคไฟฟ์ สตาร์ มูฟเมนต์ ที่คัดค้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และพรรคนอร์เทิร์น ลีก ที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ โดย เบบเป กริลโล หัวหน้าพรรคไฟฟ์ สตาร์ มูฟเมนต์ มีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในปี 2017 

วินเซนโซ สการ์เพตตา นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสจากสถาบันคลังสมอง โอเพ่น ยุโรป กล่าวว่า หากกริลโล อดีตนักแสดงตลกผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ซึ่งเป็นแกนนำในการรณรงค์โหวตคัดค้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ชนะการเลือกตั้งในปีหน้า กริลโลมีแนวโน้มจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการยกเลิกใช้เงินสกุลยูโร โดยหันกลับไปใช้เงินลีร์ของอิตาลี และอาจเดินรอยตามอังกฤษในการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียู

อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของออสเตรีย ช่วยชะลอกระแสพรรคการเมืองประชานิยมขึ้นปกครองยุโรป เนื่องจาก โนเบิร์ต โฮเฟอร์ ผู้นำพรรคฟรีดอมพาร์ตี ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดและต่อต้านผู้อพยพ ประกาศยอมแพ้ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังได้คะแนนไป 46% ต่ำกว่าคะแนนเสียงราว 53% ของ อเล็กซานเดอร์ วอน เดอร์ เบลเลน จากพรรคกรีนพาร์ตี ที่มีจุดยืนสนับสนุนอียู

อียูจี้ยักษ์ไอทีสหรัฐหยุด "เฮตสปีช"

คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เรียกร้องให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และไมโครซอฟท์ เร่งใช้มาตรการหยุดการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (เฮตสปีช) บนโลกออนไลน์โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอีซีอาจใช้กระบวนการทางกฎหมายบังคับให้บริษัทดำเนินการ

คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังยักษ์ใหญ่ไอทีลงนามระเบียบปฏิบัติของอียูเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้บริษัทไอทีจัดการเฮตสปีชที่ปรากฏในประเทศยุโรปภายใน 24 ชั่วโมง หลังความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพและการก่อการร้ายปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาบริษัทไอทีสหรัฐจัดการปัญหาดังกล่าวภายในเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ได้เพียง 40% โดยอัตราการลบโพสต์เหยียดเชื้อชาติในฝรั่งเศสและเยอรมนีอยู่ที่สูงกว่า 50% ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่เพียง 11% ในออสเตรีย และ 4% ในอิตาลี ขณะที่รัฐมนตรียุติธรรมของอียูจะประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ ในวันที่ 8 ธ.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว และคาดว่าจะเรียกร้องให้บริษัทไอทีสหรัฐชี้แจงรายละเอียดการจัดการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มเติม

อิตาลีโหวต "โน" ทำตลาดปั่นป่วน

หลังการเปิดเผยผลการลงประชามติคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอิตาลี ค่าเงินยูโร ปรับลง 1.4% อยู่ที่ 1.0505 เหรียญสหรัฐ/ยูโร ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2015 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.13% อยู่ที่ 2.027% โดยก่อนหน้านี้ รอยเตอร์สรายงานอ้างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่า อีซีบีพร้อมเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีหากมีแรงเทขายสูงหลังการลงประชามติ อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์เปิดเผยว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าอีซีบีได้ดำเนินการดังกล่าวในขณะนี้ โดยอีซีบีมีกำหนดประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ 

ด้านตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปิดการซื้อขายแดนลบในวันที่ 5 ธ.ค. โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ตลาดหุ้นจีน ปรับลง 1.2% ปิดที่ 3,204.71 จุด ดัชนีตลาดหุ้นฮั่งเส็ง ปิดลดลง 0.3% ที่ 22,505.55 จุด และดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปรับลง 0.82% ปิดที่ 18,274.99 จุด แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์

"เรากำลังเห็นพรรคประชานิยมท้าทายแนวคิดการปกครองประเทศแบบเดิมๆ ในหลายประเทศยุโรปต่อเนื่องกัน ความไม่แน่ชัดของเสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลี ทำให้นักลงทุนวิตกกังวล" ไซมอน ทิลฟอร์ด รองผู้อำนวยการศูนย์กลางปฏิรูปยุโรป คลังสมองในอังกฤษ กล่าว

หวั่นกระทบแก้หนี้ภาคธนาคารอิตาลี

จิฮิโระ โอตะ ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยการลงทุน เอสเอ็มบีซี นิกโกะ ซิเคียวริตี้ส์ ในญี่ปุ่น ว่า การประกาศลาออกของเรนซี ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคธนาคารอิตาลี สอดคล้องกับธนาคารบาร์เคลย์ ที่วิตกว่าการลดอำนาจของวุฒิสภาจะส่งผลต่อการอนุมัติแผนเพิ่มเงินทุนให้ธนาคารบังกา มอนเต เด ปาสกี ดิ เวียนา (บีเอ็มพีเอส) ซึ่งเป็นธนาคารอิตาลีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มูลค่า 5,000 ล้านยูโร (ราว 1.89 แสนล้านบาท) ในสัปดาห์นี้ โดยแผนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากเรนซี

"ผลสืบเนื่องจากประชามติเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารอิตาลี และเพิ่มความเสี่ยงที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ อาจปรับลดเครดิตเรตติ้งของธนาคารอิตาลีหลายแห่ง อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองอิตาลีก่อน" ธนาคารบาร์เคลย์ ระบุ

ทั้งนี้ ภาคธนาคารอิตาลีกำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนัก โดยสัดส่วนหนี้เสียของ 14 ธนาคารใหญ่ภายในประเทศ อยู่ที่ 2.86 แสนล้านยูโร (ราว 10 ล้านล้านบาท) แม้ว่านักลงทุนและธนาคารต่างชาติหลายแห่งเปิดเผยช่วงต้นปีนี้ว่า อาจจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคธนาคารอิตาลีโดยเฉพาะ แต่ความไม่แน่นอนหลังประชามติ อาจทำให้นักลงทุนหลายรายถอนตัวออกไป

ภาพ...เอเอฟพี