posttoday

SME แนะรัฐบาล เสริมแกร่งความรู้ เงินทุน รับ Climate Policy

26 เมษายน 2567

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป แนะรัฐบาล ให้ความรู้ นวัตกรรม แหล่งเงินทุน SME รวมถึงให้ความสำคัญกับ พลังงานทดแทนจาก Biomass รับมือ Climate Policy

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจไทย ปรับตัวรับบริบทโลกร้อน” ภายในงานสัมมนา Go Green 2024: The Ambition of Thailand โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ว่า เป็นที่น่ากังวลใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ และเร่งขับเคลื่อนผลักดัน ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือว่าทำได้ดี โดยไทยถือเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 3 ของเอเชีย อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินกันในแง่การปฏิบัติ ไทยยังถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร

เมื่อดูตัวชี้วัดด้านพลังงานหมุนเวียนยังทำได้น้อย รวมถึงการกำหนดทิศทางนโยบาย (Climate Policy) ยังต้องปรับ แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้นทิศทางการขับเคลื่อนประเทศเริ่มเห็นความน่าสนใจ ว่าจะเกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกับเทรนด์ดังกล่าวมากขึ้น ในการให้ความสำคัญกับธุรกิจคาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

การพัฒนาด้านการเงิน แหล่งทุน นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมทั้งการอำนวยความสะดวก มาตรฐาน องค์ความรู้ สิทธิประโยชน์ และตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ SME ต้องการ

ด้านนายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภาพรวมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ส่วนที่สำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร ดังนั้นเรื่องคาร์บอนเครดิตหรือ CBAM จึงไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ การที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีวัตถุดิบสำหรับชีวมวล (Biomass) อย่างมหาศาล นำไปสู่กระบวนการทำถ่านชีวภาพ (Biochar) ด้วยการผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทั้งยังช่วยในเรื่องการฟื้นฟูดินในการทำเกษตร (Regenerative Agriculture)

แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนจากไบโอแมสมากนัก แต่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ภาครัฐอาจต้องกลับมาทบทวนตัวเอง

ไทยเป็นประเทศเกษตร ทำให้เรามีไบโอแมสมหาศาล ซึ่งนั่นเป็นโอกาสทั้งนั้น ผมมองถว่านโยบายที่ถูกต้องคือการเผาเพื่อไม่ให้มีการเผา และเป็นการเผาให้เกิดรายได้แทนที่จะเกิด PM2.5 การนำไบโอชาร์มาใช้ผลิตพลังงานทดแทน และจะช่วยลดต้นทุนตั้งแต่ระดับไร่นา ไปจนถึงอุตสาหกรรมและ SME