posttoday

ดีลโอเปกดันน้ำมันพุ่ง10% ตลาดหุ้นเอเชียขานรับลดกำลังผลิต

02 ธันวาคม 2559

ข้อตกลงลดผลิตโอเปกดันน้ำมันทะลุ 52 เหรียญสหรัฐ หนุนตลาดหุ้นเอเชียปิดแดนบวกรอบ 1 ปี

ข้อตกลงลดผลิตโอเปกดันน้ำมันทะลุ 52 เหรียญสหรัฐ หนุนตลาดหุ้นเอเชียปิดแดนบวกรอบ 1 ปี

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า  ข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) ลง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในการประชุม เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 13% และหนุนให้ตลาดหุ้นเอเชียปิดแดนบวกในวันที่ 1 ธ.ค.

ทั้งนี้ โอเปกบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และเป็นความร่วมมือกับรัสเซีย ประเทศนอกกลุ่มโอเปกในรอบ 15 ปี ซึ่งร่วมปรับลดการผลิตลงราว 6 แสนบาร์เรล/วัน โดยหลังการประกาศข้อตกลงดังกล่าว สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มขึ้น 13% จากวันก่อนหน้านี้อยู่ที่ 52.54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันที่ 1 ธ.ค.ตามเวลาไทย เช่นเดียวกับสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสที่ปรับขึ้น 98 เซนต์ อยู่ที่ 50.11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ในวันเดียวกัน ตลาดหุ้นเอเชีย ต่างปรับตัวขึ้นขานรับการบรรลุข้อตกลง ของกลุ่มโอเปก โดยดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดปรับตัวขึ้น 204.64 จุด ที่ 18,513.12 จุด สูงสุด นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2015 ด้านตลาดหุ้นจีนปิดการซื้อขายแดนบวก โดยดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับขึ้น 0.39% ปิดตลาดที่ 22,878.23 จุด และดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 0.72% ปิดที่ 3,273.31 จุด

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสวนทางกับราคาทองสปอตที่ปรับตัวลง 1.35% อยู่ที่ 1,172.28 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ระหว่างการซื้อขายในวันเดียวกัน โดย ราคาทองสปอตดีดตัวขึ้นมาเพียงเล็กน้อย หลังร่วงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.ที่ 1,170.35 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ในการซื้อขายก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) เดือน พ.ย.ปรับตัวขึ้นแตะ 51.7 จาก 51.2 ในเดือน ต.ค. เช่นเดียวกับพีเอ็มไอของญี่ปุ่นจัดทำโดยนิกเกอิ ขยายตัวแตะ 51.3 แม้ลดลงจากระดับเดือน ต.ค.ที่  51.4 แต่ปรับขึ้นสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว

อย่างไรก็ดี จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัยแคปปิตัล อีโคโนมิกส์ ในสิงคโปร์ ว่า การขยายตัวของภาคการ ผลิตเอเชียในเดือน พ.ย.ยังไม่มีความยั่งยืนนัก เนื่องจากเป็นผลมาจากการใช้มาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะจีน เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

พริตชาร์ด เสริมว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นหลังกลุ่มโอเปกบรรลุข้อตกลงลดผลิต สวนทางดีมานด์ที่ยังคงซบเซา ทำให้บรรดาบริษัทภาคการผลิตผลักภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายไปยังผู้บริโภคได้ยากกว่าเดิม

ภาพเอเอฟพี